เล็งของบสภา กทม.18 ก.ย. จ่ายหนี้บีทีเอสตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด 14,549 ล้าน
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการกำกับการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน โดยมีนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ผู้แทนสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) สำนักการคลัง (สนค.) สำนักงบประมาณ (สงม.) สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม
คณะกรรมการฯได้มีการวางกรอบแนวทางการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ บีทีเอสซี ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค.67 โดยที่ประชุมเร่งรัดให้ สจส.รวบรวมเอกสารรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สัญญาการจ้างเดินรถและตัวเลขวงเงินหนี้ที่จะต้องชำระทั้งหมด ตามที่กรมบังคับคดีได้ส่งหนังสือแจ้งบังคับให้ กทม.ชำระหนี้ เป็นจำนวนเงิน 14,549 ล้านบาท รวมต้นและดอกเบี้ย โดยคำนวณยอดหนี้ที่ต้องชำระถึงวันที่ 21 ม.ค.68 หรือภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา เพื่อเสนอที่ประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ เพื่อรับทราบและขอความเห็นชอบ ก่อนเสนอเรื่องเข้าสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร เพื่อบรรจุเข้าญัตติในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อขอความเห็นชอบในการใช้เงินสะสมจ่ายขาดเต็มจำนวนที่แจ้งบังคับคดี โดยคาดว่าจะมีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในวันที่ 18 ก.ย.นี้
ด้านนายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องสัญญาการจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ข้อเท็จจริง กทม.ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที บริหารจัดการเดินรถ ส่วนเคทีไปทำสัญญาจ้างบีทีเอสซีเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่ถือว่า กทม.เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับบีทีเอสซี แต่คำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้ กทม. และเคที ร่วมกันชำระหนี้ให้กับบีทีเอสซี แต่วิธีการ กทม.จะชำระให้กับเคทีในฐานะคู่สัญญา จากนั้นเคทีจึงจะชำระหนี้ให้กับบีทีเอสซีตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ต้องนำเรื่องเข้าสภากรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณางบประมาณสะสมจ่ายขาด หลังจากได้รับความเห็นชอบจึงจะชำระหนี้ได้ ซึ่ง กทม.พยายามจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 100 วันตามกรอบเวลาคำสั่งศาลปกครองสูงสุดกำหนดภายใน 180 วัน เนื่องจากสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขอเน้นย้ำว่าต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรก สัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ ส่วนที่ 2 สัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ยังไม่ผ่านสภากรุงเทพมหานคร ก็จะต้องทำให้ถูกต้องโดยเสนอสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบ อาจจะเสนอไปพร้อมกับการขออนุมัติใช้งบสะสมจ่ายขาดเพื่อชำระหนี้ในคราวเดียวกัน.
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น