เผยวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากได้รับก๊าซแอมโมเนีย อันตรายถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น
เผยวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากได้รับก๊าซแอมโมเนีย อันตรายถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น
วันที่ 18 เม.ย.67 หลังจากเกิดเหตุระเบิดภายในโรงน้ำแข็ง บางละมุง จ.ชลบุรี ส่งผลให้แอมโมเนียรั่วไหลออกมา ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะบ้านเอื้ออาทรบางละมุงที่อยู่ติดกัน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 50 แล้ว ทั้งหมดสติ แสบตา แสบจมูก และแน่นหน้าอก เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างอพยพคนออกมาในที่ปลอดภัย
สำหรับการปฐมพยาบาลจากการรับสัมผัสแอมโมเนียมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับผู้สัมผัสว่าได้รับสัมผัสโดยวิธีใด ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้
การปฐมพยาบาลการสูดดมแอมโมเนีย
1.รีบนำผู้ได้รับสัมผัสออกจากที่เกิดเหตุไปอยู่พื้นที่โล่ง เหนือลม อากาศถ่ายเทสะดวก
2.ตรวจสอบการหายใจและการเต้นของหัวใจ
3.ถ้าหายใจปกติ ให้คลายเสื้อผ้าออกให้หลวม ถ้าเหงื่อออกให้เช็ดตัว ถ้ารู้สึกตัวให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเย็น ถ้าหายใจติดขัดให้ออกซิเจน แต่ถ้าหยุดหายใจต้องช่วยผายปอดจนกว่าจะหายใจสะดวก ห้ามใช้วิธีผายปอดด้วยวิธีเป่าปาก
4.หากหายใจเอาสารแอมโมเนียเข้าไป ให้ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดมีที่ครอบให้อากาศแบบวาล์วทางเดียวหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดมือบีบ
การปฐมพยาบาลการสัมผัสแอมโมเนียทางผิวหนัง
1.รีบถอดเสื้อผ้า และ เครื่องประดับออก
2.ล้างด้วยน้ำสะอาดจำนวนมากและต่อเนื่องอย่างน้อย 15 นาที โดยให้น้ำไหลผ่าน
3.กรณีสัมผัสแอมโมเนียและมีแผลไหม้จากความเย็นจัด ให้แช่หรือประคบด้วยน้ำอุ่น พร้อมทั้งใช้ผ้าสะอาดคลุมเอาไว้บริเวณแผลไหม้ แล้วรีบไปพบแพทย์
การปฐมพยาบาลการรับสัมผัสแอมโมเนียทางปาก
1.ให้ดื่มน้ำมากๆ ห้ามล้วงคอหรือทำให้อาเจียน
2.ถ้าหมดสติให้นอนหงาย เอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง สังเกตการหายใจและจับชีพจรที่คอ หรือขาหนีบ ถ้าหยุดหายใจต้องทำการปั๊มหัวใจเพื่อช่วยชีวิต
รีบนำส่งแพทย์
การปฐมพยาบาลแอมโมเนียสัมผัสดวงตา
1.ถอดคอนแทคเลนส์ออก (ถ้ามี) และสามารถทำได้อย่างปลอดภัย
2.ตะแคงเอียงหน้า แล้วล้างตาด้วยน้ำสะอาดผ่านดวงตาจำนวนมากอย่างต่อเนื่องล้างน้ำอย่างน้อย 30 นาที จากหัวตามาหางตาจนกว่าจะไม่เคืองตา
3.ห้ามขยี้ตา
4.รีบไปพบแพทย์
ที่มา : จปToday.
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : khaosod
ความคิดเห็น