รถไฟฟ้า 20 บ. ทุกสาย หนุนใช้ภาษีรถยนต์ ซื้อคืนสัมปทานเอกชน

ทางออกรถไฟฟ้า 20 บาท ทุกสาย เวทีศึกษาห่วงซื้อคืนสัมปทานมากกว่า 2 แสนล้านบาท เสี่ยงขาดสภาพคล่อง กระทบบริการ หนุนเพิ่มภาษีรถยนต์ประจำปี ผันเงินเข้าระบบลดภาระประชาชน
หลังประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมร่วมกันศึกษาการกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานผ่านการระดมทุนจากนักลงทุน รวมถึงการดำเนินการศึกษาเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) เพื่อนำไปซื้อคืนสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

สภาผู้บริโภคสนับสนุนการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของผู้บริโภคได้อย่างปลอดภัยมีราคาค่าโดยสารเป็นธรรมจึงจัดให้มีการประชุม เปิดนโยบายรัฐบาล “ซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าหลากสี ค่าโดยสาร 20 บาท ทุกสีทุกสาย” เพื่อเป็นเวทีเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม รับฟังความเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอแนะต่อนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทของรัฐบาล
เวทีประชุมดังกล่าว ภาคเอกชน ได้ส่งตัวแทนมาร่วมระดมความเห็นประกอบด้วย ผู้แทนบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, ผู้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง, บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด
โดยความเห็นของภาคเอกชนมีความพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการซื้อคืนสัมปทาน เพื่อกำหนดราคารถไฟฟ้า 20 บาท แต่มีข้อห่วงใยเรื่องของที่มาของรายได้งบประมาณในการชดเชยสัมปทาน

ขณะที่เครือข่ายนักวิชาการ อดิศักดิ์ สายประเสริฐ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ผลจากการประชุมร่วมกันเอกชนได้ข้อสรุปในหลายประเด็น ทั้งในเรื่องรูปแบบในการซื้อคืน ซึ่งมีบทเรียนจากต่างประเทศที่ได้ดำเนินการไปในหลายประเทศ แต่ส่วนใหญ่สาเหตุที่รัฐซื้อคืนสัมปทานมาจากบริษัทเอกชนมีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนไปกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัย และมาตรฐานการบริการกับประชาชน ในไทยจากการหารือกับตัวแทนจากหน่วยงาน เช่น กรมขนส่งทางราง รฟม. BEM
ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นแย้งกับการที่รัฐบาลจะซื้อคืนสัมปทานเพื่อผลักดันนโยบายไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพียงแต่ว่ารัฐบาลมีช่องทางที่จะชดเชยรายได้อย่างไรเพื่อผลักดันนโยบายนี้ให้สำเร็จ รวมถึงข้อกฎหมายที่จะสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของผู้บริโภคที่ปลอดภัยและเป็นธรรม “ที่ประชุมส่วนใหญ่ห่วงเรื่องแหล่งที่มาของรายได้ที่จะชดเชยให้กับเอกชน
ซึ่งเห็นว่าแหล่งที่มาของรายได้อุดหนุนระบบขนส่งสาธารณะ ก็ควรเป็นรายได้ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นภาษีล้อเลื่อน ที่ปัจจุบันมีการจัดเก็บและนำส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว อาจแก้ไข พ.ร.บ.ขนส่งทางบก เพื่อปรับเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมภาษีรถยนต์ประจำปีเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะนำมาชดเชยเพื่ออุดหนุนสัญญาสัมปทานได้

ชดเชยสัมปทานเอกชน ต้องศึกษาละเอียด
ผศ.ดร.ช้องนาง วิพุธานุพงษ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ได้ทำความร่วมมือทางวิชาการกับสภาผู้บริโภคในการศึกษาความเป็นไปได้ของการกำหนดราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าทุกสายมันอยู่ที่ 20 บาท ซึ่งการศึกษาจะมีสองส่วนทั้งในเรื่องกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในส่วนของเศรษฐศาสตร์มีเรื่องต้องพิจารณาคือการชดเชยรายได้การซื้อคืนสัมปทาน โดยการศึกษาเสร็จภายในกลางปี 2568
“การซื้อคืนสัมปทานโดยหลักการทำได้แต่จะไปติดในเรื่องงบประมาณค่าชดเชยในการชดเชยให้กับเอกชนถ้าเรามีการซื้อคืนก่อนระยะเวลาสัมปทานจะหมดลง ส่วนในเรื่องกฎหมายการซื้อคืนสัมปทานก็จะบอกได้ว่ามีความเป็นไปได้ ดังนั้นการศึกษาวิจัยจึงต้องคู่กับไปทั้งในเรื่องเศรษฐศาสตร์ และเรื่องกฎหมาย”
คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า สภาผู้บริโภคจะศึกษาแนวทางการซื้อคืนสัมปทานว่าจะมีรูปแบบอย่างไร เพื่อสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทให้เกิดขึ้น โดยการซื้อคืนต้องพิจารณาเรื่องของการชดเชยรายได้ของเอกชน จึงต้องศึกษาสัญญาและวิเคราะห์อย่างละเอียด เพื่อเสนอทางเลือกให้กับรัฐบาล คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางปี 2568

ใช้งบประมาณมากกว่า 2 แสนล้าน
สำหรับสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปัจจุบันมีทั้งหมด 10 โครงการ โดยคาดว่าหากรัฐจะดำเนินการซื้อคืนหรือเวนคืนสัมปทานทั้งหมด อาจต้องใช้งบประมาณมากกว่า 2 แสนล้านบาท
1. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ผู้ลงทุน, ผู้บริหาร และผู้เดินรถ คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ระยะเวลาสัญญา 30 ปี (2563-2593) เหลือเวลา 26 ปี
2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผู้ลงทุน, ผู้บริหารและผู้เดินรถคือ บริษัท บีทีเอส ระยะเวลา 30 ปี (2542-2572) เหลือเวลา 5 ปี
3. โครงการรถไฟฟ้าสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 สถานีตากสิน-บางหว้า และสุขุมวิท-แบริ่ง ผู้ลงทุนคือ BMA หรือ การบริหารกรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration) ผู้บริหาร คือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด, ผู้เดินรถคือ บีทีเอส ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี (2555-2585) เหลือเวลา 19 ปี
4. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ผู้ลงทุนคือ BMA หรือ การบริหารกรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration) ผู้บริหาร คือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด, ผู้เดินรถคือ บีทีเอส ระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี (2560-2585) เหลือเวลาสัมปทาน 19 ปี
5. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ผู้ลงทุน และผู้บริหาร คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ MRTA, ผู้เดินรถ คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี (2559-2589) เหลือเวลาสัมปทาน 23 ปี
6. โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ผู้ลงทุนคือ BMA หรือ การบริหารกรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration) ผู้บริหาร คือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และผู้เดินรถ คือ บริษัท บีทีเอส ระยะเวลาสัญญา 30 ปี (2561-2591) เหลือเวลา 25 ปี
7. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ผู้ลงทุนคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ MRTA ผู้บริหาร และผู้เดินรถ คือ บริษัท บีทีเอส ระยะเวลาสัญญา 30 ปี (2566-2596) เหลือเวลาสัมปทาน 30 ปี
8. โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ผู้ลงทุน และผู้บริหาร คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ SRT, ผู้เดินรถคือ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ต่อสัญญาปีต่อปี
9. โครงการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ผู้ลงทุน และผู้บริหาร คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ SRT ผู้เดินรถคือ AERA1 ผู้ลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะเวลาสัญญา 50 ปี หลังเริ่มสัญญา
10. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ผู้ลงทุน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ MRTA ผู้บริหาร และผู้เดินรถ คือ บริษัท บีทีเอส ระยะเวลาสัญญา 30 ปี (2566-2596)
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ข่าวใหม่















ความคิดเห็น