ย้อนรอย ‘วิกิลีกส์’ เว็บจอมแฉ แพร่เอกสารลับช็อกโลก
- คดีความระหว่างสหรัฐฯ กับเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ วิกิลีกส์ มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เมื่อเขายอมตกลงขึ้นศาลรับผิด แลกกับการไม่ถูกจำคุกเพิ่ม
- ที่ผ่านมา วิกิลีกส์ เผยแพร่เอกสารลับไปแล้วนับพันนับหมื่นฉบับ ครอบคลุมทุกเรื่องตั้งแต่ ภาพยนตร์ไปจนถึงสงคราม และความมั่นคง
- มีหลายกรณีที่กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวสุดๆ ทั้งการแพร่คลิปขณะทหารสหรัฐฯ ยิงสังหารประชาชนในอิรัก, การที่คนในขอหน่วยข่าวกรองแฉหน่วยงานตัวเอง และการแฉอีเมลของฮิลลารี คลินตัน
คดีความระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับ จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์จอมแฉ ‘วิกิลีกส์’ มาถึงจุดสิ้นสุดแล้วในสัปดาห์นี้ เมื่อนายอัสซานจ์ยอมตกลงขึ้นศาลรับผิดข้อหาจารกรรมข้อมูล และกับการไม่ต้องถูกจำคุกเพิ่มเติม และสามารถกลับบ้านเกิดที่ออสเตรเลียได้
แต่ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า การกระทำของเขากับ วิกิลีกส์ ซึ่งเผยแพร่เอกสารลับมาแล้วนับพันนับหมื่นฉบับ ครอบคลุมทุกภาคส่วนไล่ตั้งแต่ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปจนถึงเรื่องความมั่นคงของชาติและสงครามนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
สำหรับฝ่ายที่สนับสนุน การแฉของวิกิลีกส์คือกุญแจสำคัญในการเปิดโปงความลับ ที่รัฐบาลหรือบริษัทใหญ่ๆ ต้องการปกปิดเอาไว้ แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า นั่นเป็นการกระทำโดยไม่ยั้งคิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายตามมา
รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในองค์กรที่โดนวิกิลีกส์เล่นงานหนักที่สุด หลังเว็บไซต์นี้เผยแพร่ข้อมูลลับของประเทศที่เกี่ยวข้องกับสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน และไปถึงขั้นเปิดเผยตัวตนของสายลับจนทำให้ชีวิตของพวกเขาตกอยู่ในอันตราย ทำให้สหรัฐฯ มุ่งมั่นเอาผิดนาย จูเลียน อัสซานจ์ มาตลอด
มาย้อนดูกันว่า ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา วิกิลีกส์ แฉเรื่องราวอะไรจนเป็นข่าวช็อกโลกกันบ้าง
คู่มือคุกกวนตานาโม เบย์
นี่เป็นหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูลลับครั้งแรกๆ ของวิกิลีกส์ โดยในเดือนพฤศจิกายนปี 2550 เว็บไซต์จอมแฉรายนี้เผยแพร่คู่มือการปฏิบัติงานจำนวน 238 หน้า ของเจ้าหน้าที่ ‘แคมป์ เดลต้า’ หนึ่งในค่ายกักกันของกองทัพสหรัฐฯ ในฐานทัพเรือ กวนตานาโม เบย์ ที่ประเทศคิวบา โดยเป็นคู่มือที่ใช้ในปี 2546
เอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากองทัพสหรัฐฯ คุมขังนักโทษเอาไว้ โดยไม่ให้เจ้าหน้าที่จากสภากาชาดเข้าไปตรวจสอบ และขังเดี่ยวนักโทษใหม่นานถึง 2 สัปดาห์ เพื่อให้พวกเขายอมเชื่อฟังมากขึ้น ท่ามกลางข่าวลือมากมายว่ามีการทรมานและทารุณกรรมนักโทษที่เรือนจำแห่งนี้
ต่อมาในเดือนเมษายน 2554 วิกิลีกส์เริ่มเผยแพร่ไฟล์ข้อมูลลับ 779 หน้า เกี่ยวกับนักโทษในค่ายกักกันกวนตานาโม เบย์ จนเกิดเป็นกระแสโจมตีอย่างหนัก ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคน ทั้งบารัค โอบามา จนมาถึง โจ ไบเดน พยายามจะปิดค่ายกักกันนี้ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังทำไม่สำเร็จ
เผยข้อมูลส่วนตัวสมาชิกพรรค BNP นับหมื่นคน
ในปี 2551 วิกิลีกส์เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งชื่อ, ที่อยู่ และข้อมูลการติดต่อ ของสมาชิกพรรคแห่งชาติบริติช (BNP) มากกว่า 13,000 คน โดยในตอนนั้น BNP เป็นตัวตั้งตัวตีให้ UK ห้ามผู้อพยพชาวมุสลิมเข้าประเทศ และบอกให้ผู้อาศัยในสหราชอาณาจักรกลับไปอยู่ในประเทศที่เป็นต้นกำเนิดเชื้อสายของพวกเขา
การสืบสวนในเวลาต่อมาพบว่า ข้อมูลเหล่านี้รั่วไหลไปโดยฝีมือของนาย แมตทิว ซิงเกิล อดีตสมาชิกพรรค BNP เอง โดยผู้พิพากษาศาลเมืองนอตติงแฮม ระบุว่านี่เป็นการกระทำเพื่อแก้แค้น และสั่งปรับเงินเขาจำนวน 200 ปอนด์
แฉการสังหารประชาชนที่แบกแดด
เมื่อปี 2553 วิกิลีกส์เผยแพร่คลิปวิดีโอที่ถ่ายจากบนเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพสหรัฐฯ แสดงให้เห็นภาพการเข่นฆ่าพลเรือนในกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก โดยมีเสียงจากวิทยุสื่อสารบอกให้นักบิน “light 'em all up” หรือ “เผามันให้หมด” ก่อนที่ผู้คนบนท้องถนนจะถูกยิงด้วยปืนจากเฮลิคอปเตอร์
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2550 โดยวิดีโอยังแสดงให้เห็น รถตู้คันหนึ่งเดินทางมายังจุดเกิดเหตุในไม่กี่นาที เพื่อนำตัวคนเจ็บออกไป แต่รถคันนี้กลับถูกยิงโจมตีด้วย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ศพ รวมนาย นามีร์ นูร-เอลดีน ช่างภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์ กับนาย ซาอีด ชมัค ผู้ช่วยของเขา
ทหารสหรัฐฯ บนภาคพื้น เห็นว่ามีเด็กได้รับบาดเจ็บ 2 คน จึงตัดสินใจนำตัวไปพวกเขาส่งโรงพยาบาล แต่มีเสียงดังเข้ามาในคลิปด้วยว่า “เป็นความผิดของพวกเขาเอง ที่พาเด็กๆ มาสมรภูมิด้วย”
ข้อมูลข่าวกรองสหรัฐฯ รั่วไหลครั้งใหญ่
ในปี 2553 เช่นกัน วิกิลีกส์ได้เผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของสหรัฐฯ ในสงครามอิรักและอัฟกานิสถานจำนวนกว่า 750,000 ฉบับ โดยพวกเขาได้รับข้อมูลเหล่านี้มาจาก เชลซี แมนนิง นักวิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งในภายหลังถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดข้อหาจารกรรมข้อมูล และถูกจำคุกนานถึง 7 ปี
เอกสารดังกล่าวเปิดเผยเรื่องการสังหารพลเรือนหลายร้อยคน ฝีมือทหารสหรัฐฯ ในเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีการเปิดเผยมาก่อน ขณะที่เอกสารเกี่ยวกับสงครามอิรักที่ถูกแฉเพิ่มเติมชี้ว่า มีพลเรือนถูกสังหารในสงครามนี้มากถึง 66,000 ศพ มากกว่ารายงานฉบับก่อน และเอกสารยังบอกด้วยว่า นักโทษที่ถูกจับกุมถูกกองทัพอิรักทรมาน
ข้อมูลที่วิกิลีกส์แฉออกมายังรวมถึง ข้อความมากกว่า 250,000 ข้อความที่ส่งโดยเจ้าหน้าที่การทูตสหรัฐฯ เปิดเผยเรื่องความต้องการของสหรัฐฯ ที่จะเก็บข้อมูลไบโอเมทริก เช่น ม่านตา, ตัวอย่างดีเอ็นเอ และลายนิ้วมือ จากเจ้าหน้าที่คนสำคัญของสหประชาชาติ
ข้อความหลังเหตุการณ์ 9/11
ในปี 2552 วิกิลีกส์เผยแพร่ข้อความกว่า 573,000 ข้อความ ที่ทางการสหรัฐฯ ดักฟังเอาไว้ได้ในช่วงเหตุวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อ 11 กันยายน 2544 ซึ่งรวมถึงการติดต่อสอบถามความปลอดภัยระหว่างครอบครัวกับบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา ไปจนถึงปฏิกิริยาจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล ต่อการโจมตีครั้งนี้
หนึ่งในข้อความดังกล่าวระบุว่า “ประธานาธิบดีถูกเปลี่ยนเส้นทางไม่กลับกรุงวอชิงตันแล้ว แต่ยังไม่แน่ชัดว่า เขาจะไปที่ไหนต่อ”
อีเมลลับเดโมแครต
ในปี 2559 วิกิลีกส์ได้เผยแพร่ข้อความอีเมลกว่า 20,000 ข้อความ จากคณะกรรมการแห่งชาติของพรรคเดโมแครต รวมถึงจากอีเมลของนาย จอห์น โพเดสตา หัวหน้าทีมหาเสียงของนาง ฮิลลารี คลินตัน เพียงไม่กี่เดือนก่อนจะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีเดียวกัน
อีเมลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เหล่า ส.ส.ของพรรคเดโมแครตชื่นชอบนางคลินตัน มากกว่าคู่แข่งร่วมพรรคของเธออย่างนาย เบอร์นี แซนเดอร์ส โดยนายโพเดสตาถึงกับเรียกนักการเมืองอาวุโสผู้นี้ว่า “โง่เง่า” หลังนายแซนเดอร์สวิพากษ์วิจารณ์ความตกลงปารีสว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
อีเมลยังบอกเป็นนัยด้วยว่า เจ้าหน้าที่ของ ซีเอ็นเอ็น แอบบอกคำถามที่จะใช้ในการดีเบตที่พวกเขาจัดขึ้น ให้ทีมหาเสียงของนางคลินตันรู้ก่อน
หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ในตอนนั้นชี้ว่า อีเมลดังกล่าวถูกจารกรรมไปโดยฝีมือของแฮกเกอร์รัสเซีย ขณะที่หลายฝ่ายกล่าวหาวิกิลีกส์ว่า พยายามดิสเครดิตของนางคลินตัน เนื่องจากพวกเขาปล่อยข้อมูลลับออกมาในช่วงที่การหาเสียงเลือกตั้งกำลังเข้มข้น
แพร่เอกสารลับ โซนี
เมื่อปี 2558 วิกิลีกส์เผยแพร่อีเมล 170,000 ข้อความ กับเอกสารอีกกว่า 20,000 ฉบับที่หลุดมาจากบริษัท โซนี พิกเจอร์ส ซึ่งถูกโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ในปี 2557 ก่อนเริ่มฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘The Interview’ ซึ่งมีเนื้อหาล้อเลียนเกาหลีเหนือเพียงไม่กี่สัปดาห์
อีเมลดังกล่าวเปิดเผยว่า นักแสดงหญิงชื่อดัง เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ กับ เอมี อดัมส์ ได้รับค่าจ้างน้อยกว่านักแสดงชายที่ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง American Hustle หลายเท่าตัว
นอกจากนั้นยังมีข้อความที่ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์และผู้บริหารเย้ยหยันดาราหลายคน รวมถึง แองเจลินา โจลี และ ลีโอนาโด ดิคาปริโอ ซึ่งถูกด่าว่า “น่ารังเกียจ” หลังจากเขาปฏิเสธบทบาทในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของ โซนี พิกเจอร์ส
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น