ทุบค่าไฟฟ้า 3.70 บ. จับตาหั่นโครงสร้างราคา กฟผ. แบกหนี้เพิ่ม
จับตาทุบค่าไฟฟ้า 3.70 บาท/หน่วย "ผู้เชี่ยวชาญพลังงาน” หวั่นหั่นโครงสร้างราคา ผลักภาระพอกหนี้เก่า ส่องโอกาสลดให้เหลือ 2.50 – 3 บาท/หน่วย ได้ถ้าเจรจาลดการซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเอกชน สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนผลิตไฟใช้อย่างเป็นธรรม
หลังอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นปราศรัยบนเวที ถึงแนวทางทุบราคาค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาท/หน่วย จากเดิมอยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วย พร้อมย้ำว่าได้คุยกับหน่วยงานเกี่ยวข้องแล้ว แต่พอวันรุ่งขึ้น หุ้นโรงไฟฟ้าเอกชนดิ่งรับทันที แน่นอนว่าการปรับลดค่าไฟฟ้า เป็นเหมือนมหากาพย์ที่ถูกพูดถึงมานานตั้งแต่รัฐบาลก่อน ซึ่งก็ยังไม่มีการแก้ไขโครงสร้างราคาได้อย่างยั่งยืน
รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค มองว่า มาตรการลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.70 บาท/หน่วย รัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องควรมีประกาศชัดเจนว่า จะจัดการต้นทุนส่วนไหน เพื่อให้ค่าไฟถูกลง โดยต้องแสดงโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าใหม่ให้ชัดเจน ที่ผ่านมาเมื่อมีการประกาศลดค่าไฟ มักโยนภาระให้ กฟผ. แบกรับค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที ซึ่งเป็นการโยนภาระหนี้ให้เพิ่มขึ้นจากหนี้เดิมที่มีอยู่
ส่วนอีกแนวทาง ที่สามารถลดค่าไฟฟ้าได้คือ รัฐต้องลดภาษีการจัดเก็บรายได้ แต่ต้องจับตาว่า ยอมหั่นการจัดการกับรายได้ของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ที่เป็นค่าความพร้อมจ่าย เป็นการรับประกันกำไรให้โรงไฟฟ้าเอกชนหรือไม่ เพราะต่อให้ผลิตหรือไม่ผลิตไฟก็ได้ เพราะถ้ารัฐต้องลดค่าไฟแบบระยะยาว ควรมีการเจรจากับเอกชนเป็นรายกรณี เช่น โรงไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตไฟมานาน และคืนทุนแล้ว อาจมีเงื่อนไขที่รัฐให้ค่าพร้อมจ่ายลดลง หรือยื่นข้อเสนอในการซื้อไฟที่นานกว่าสัญญาเดิม 1 – 2 ปี
เช่นเดียวกับการลดต้นทุน ค่าเชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้ามีราคาแพง โดยเฉพาะก๊าซแอลเอ็นจี ที่มีกระบวนการนำเชื้อเพลิงจากแหล่งผลิตที่มีราคาแพง แล้วมารวมกันเป็นราคาเดียวแบบ Pool Gas ทางหน่วยงานเคยเสนอให้นำก๊าซจากแหล่งพัฒนาร่วม "เจดีเอ" (JDA) ระหว่างไทย – มาเลเซีย มีการจัดสรรแหล่งก๊าซร่วมกัน แนวทางคือ ช่วงใดที่ก๊าซมีราคาแพง ต้องต่อรองกับมาเลเซียเพื่อนำก๊าซมาใช้ทดแทนก่อน เพื่อให้ต้นทุนการผลิตไฟในประเทศมีราคาต่ำลง
โครงสร้างราคาการผลิตไฟฟ้า สามารถลดลงได้มากกว่า 3.70 บาท/หน่วย หากมีการนำก๊าซจากอ่าวไทยมาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และมีกระบวนการจัดการต้นทุนค่าไฟของโรงไฟฟ้าเอกชน เพราะถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.50 – 3 บาท/หน่วย ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ แต่สิ่งสำคัญที่เราตั้งคำถามมาตลอดคือ เราบริหารให้เอกชนรวย แต่ให้ กฟผ. แบกรับหนี้แทนหรือเปล่า
“รัฐควรเจรจาค่าพร้อมจ่ายกับโรงไฟฟ้าเอกชน เพราะที่ผ่านมาไม่ยอมเจรจากัน ทั้งที่มีหลายวิธีสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ ซึ่งวิธีลดค่าไฟ โดยให้ กฟผ. แบกรับหนี้ สุดท้ายก็ต้องมากระทบกับประชาชน ในการขึ้นค่าไฟอยู่ดี จึงมีคำถามว่า การประกาศลดค่าไฟเหลือ 3.70 บาท มันยั่งยืนแค่ไหน"
ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เอง ทางออกวิกฤติ
แนวทางแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงอย่างยั่งยืน "รสนา" มองว่า ต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนติด "โซลาร์รูฟ" ด้วยระบบ Net Metering คือ บ้านที่ติดโซลาร์รูฟที่มีแสงแดดกลางวัน แต่ต้องไปทำงานข้างนอก เลยไม่ได้ใช้ไฟ แต่ควรให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้ช่วงกลางวัน สามารถไหลเข้าไปสำรองในระบบสายส่ง โดยไม่ต้องมีแบตเตอรี่สำรองอยู่ที่บ้าน พอตอนกลางคืนกลับมาบ้านก็สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ในระบบส่งคืนให้กับบ้านที่ผลิตตามหน่วยที่ผลิตได้
ขณะเดียวกัน ตอนนี้เมื่อผลิตไฟฟ้าได้ ประชาชนทั่วไปขายไฟคืนให้รัฐได้ประมาณ 2.20 บาท/หน่วย แต่ประชาชนเมื่อใช้ไฟฟ้ากลับต้องจ่ายแพงกว่า ตกประมาณหน่วยละเกือบ 4 บาท เมื่อรวมกับภาษีที่ต้องจ่าย ทำให้ประชาชนทั่วไปขาดแรงจูงใจในการจะผลิตไฟใช้เอง
"ที่ผ่านมา ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พยายามบอกว่าจะปลดล็อก เพื่อลดค่าไฟฟ้า แต่สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การทำระบบ Net Metering หรือ "ฝากไฟฟ้าไว้ในระบบสายส่ง"
ที่ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมารัฐกำหนดการซื้อไฟคืนจากประชาชนแค่ 10 ปี แต่ซื้อคืนจากโรงไฟฟ้าที่เป็นโซล่าฟาร์มอยู่ที่ 25 ปี ดังนั้น ประชาชนเลยขาดแรงจูงใจ ทั้งที่จริงประชาชนผลิตไฟได้เอง ถือเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดความยั่งยืนสูงสุด
ส่วนการจัดการปัญหาหนี้ค้างอยู่ของ กฟผ. ที่มีการบีบให้ผลิตไฟฟ้าได้เพียง 29% ส่วนอีกกว่า 70% เป็นของโรงไฟฟ้าเอกชน จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำรายได้ของ กฟผ. มาชดใช้หนี้ได้ ถ้าภาครัฐไม่เพิ่มกำลังการผลิตให้กับ กฟผ. ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องมีการจัดการด้านโครงสร้างราคาให้เกิดกับประชาชนสูงสุด.
ความคิดเห็น