ทีดีอาร์ไอ หนุนค่าไฟ 3.70 บาท แนะหาวิธีลดต้นทุน-ไม่บีบ
ทีดีอาร์ไอ หนุนค่าไฟ3.70 บ. แนะหาวิธีลดต้นทุน-ไม่บีบ
เมื่อวันที่ 6 มกราคม นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า สำหรับแนวคิดที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างขึ้นเวทีปราศรัย ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อช่วยนางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ในนามพรรคเพื่อไทย ถึงแนวคิดที่จะทุบค่าไฟจาก 4.15 บาท เหลือ 3.70 บาท จะมีความความเป็นไปได้ หรือ ไม่นั้น โดยมุมมองของตนมองว่าการตั้งเป้าหมายเป็นสิ่งที่ดี และค่าไฟก็เป็นตัวกำหนดค่าครองชีพครัวเรือนที่สำคัญ ค่าไฟไม่แพงก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว
แต่สิ่งสำคัญก็คือต้องเข้าใจว่า ประเทศไทยยังอยู่ในระบบตลาด ดังนั้นจึงต้องไปพิจารณาความเป็นไปได้ในแง่ของการจัดหาพลังงานต่างๆ ก็ต้องไปดูแนวทางว่าจะมีวิธีการไหนจะสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายลดค่าไฟเหลือ 3.70 บาท ตามที่นายทักษิณได้กล่าวไว้ โดยไม่ไปบีบบังคับมากจนเกินไปหรือไม่ไปกำหนดควบคุมภาคธุรกิจมากเกิน
นายนณริฏ กล่าวว่า ถ้าหากรัฐบาลจะใช้วิธีการไปกดดันหรือบังคับภาคธุรกิจในการลดค่าไฟลงนั้น สถานการณ์ก็จะคล้ายๆกับกรณีที่บางประเทศที่รัฐบาลประชานิยมไปหักคออยากได้อะไรถูกๆก็ไปบังคับภาคเอกชน เอกชนก็อยู่ลำบาก เพราะขาดทุน
ดังนั้น ถ้าถามว่าแนวคิดนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ รัฐบาลคงต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดซึ่งก็จะมีหลากหลายวิธีโดยที่ไม่ต้องไปบีบบังคับภาคเอกชนมากนัก เพราะเนื่องจากประเทศไทยก็ยังมีพัฒนาการทางด้านธุรกิจพลังงาน แต่อีกด้านรัฐบาลก็ต้องศึกษาว่าจะมีวิธีการลดต้นทุนอย่างไร อาจจะใช้แนวทางนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการลดต้นทุนค่าไฟ
หรือจะหาแหล่งพลังงานที่ต้นทุนราคาถูกลงได้อย่างไร โดยตนมองว่ายังมีช่องทางอีกมากที่รัฐบาลสามารถทำได้ทั้ง ทำการวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนให้เอกชนใช้เทคโนโลยีทางเลือกซึ่งก็อาจจะสามารถเป็นวิธีที่จะช่วยลดค่าไฟได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ นายนณริฏ กล่าวว่า เวลาที่มองวิสัยทัศน์ลักษณะนี้จริงๆโดยส่วนตัวตนว่าเป็นเรื่องที่ดีที่อยากจะช่วยลดค่าไฟให้ถูกลง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือวิธีการปฏิบัติว่าจะทำอย่างไรให้แนวคิดเกิดขึ้นได้จริง และคุมไม่ให้มีผลกระทบมาก หรือ มีผลกระทบน้อยที่สุด ใช้กลไกตลาดในการดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพโดยรัฐบาลเข้าไปเกื้อหนุนให้สามารถเดินไปได้
นอกจากนี้ นายนณริฏ กล่าวถึง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2568 ว่า ตอนนี้ตนมองว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีการฟื้นตัวค่อนข้างดีก็จริง แต่ก็จะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งถ้าดูตัวเลขจีดีพีกลมๆ ปี 2568 คาดว่าอาจจะขึ้นเป็น 2.6-2.8% แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งเป้าหมายให้จีดีพีโตเกิน 3% แต่มันสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจขณะนี้ฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากก็ยังมี กลุ่มคนรากหญ้าที่ประสบปัญหาความยากจน หรือ กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีบางกลุ่มที่ยังคงลำบาก ซึ่งบางมาตรการกระตุ้นถ้ามุ่งเน้นอัดฉีดเงินเกินไปก็จะ ทำให้เป็นมาตรการที่ซึม คือ อัดฉีดมาแล้วหายไป
สุดท้ายก็ไม่เกิดความยั่งยืนและเกิดผลน้อยลงเรื่อยๆเช่นกัน เพราะประเทศไทยยังคงประสบปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่คนตัวเล็กๆจะไม่สามารถต่อสู้ได้ด้วยง่าย ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญของการแก้ปัญหาโครงสร้าง มากกว่าการเน้นการแจกเงินหมื่น
นอกจากนี้ นายนณริฏ กล่าวว่า ปัญหาโครงสร้างที่ต้องเร่งแก้คือ ปัญหาหนี้ ซึ่งรัฐจะต้องหาวิธีการแก้หนี้ หรือ ลดปัญหาหนี้ให้กับคนกลุ่มตัวเล็กๆ หรือ ผู้ประกอบการเล็กๆที่ประสบปัญหาทางด้านมีหนี้สินมาก โดยภาครัฐจะต้องมีการสนับสนุนให้มีการกระตุ้นความสามารถในการแข่งขันจริงๆ หรือจะมีวิธีอย่างไรที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยไปเปิดตลาดได้
ขอบคุณแหล่งที่มา : matichon
ความคิดเห็น