ครูบำนาญโอดจ่ายเบี้ยประกันเงินกู้ ช.พ.ค. ชี้ยอดลดแต่ยังถูกเก็บเงินนับหมื่นทุกปี
จากกรณีนายประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ ออกมาเรียกร้อง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และนายพีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนนับแสนคน เกี่ยวกับการทำประกันสินเชื่อในโครงการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) โดยการเปิดประมูลหาบริษัทประกันชีวิตเพื่อประกันเงินกู้กับธนาคารออมสินและให้ครูมีสิทธิ์เลือกบริษัทประกันได้เอง ไม่ให้มีการผูกขาดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งนั้น
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นายปัญญา แพงเหล่า วัย 70 ปี ข้าราชการบำนาญใน จ.อุบลราชธานี สมาชิก ช.พ.ค.ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกหนี้ธนาคารออมสินในโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน และนายพีระพันธ์ ควรเข้ามาดูแลแก้ปัญหาความเดือดร้อนของครู ในการลดภาระค่าใช้จ่ายค่าเบี้ยประกันเงินกู้ ช.พ.ค.ให้ถูกลง เพราะครูผ่อนชำระกับธนาคารออมสินมานานกว่า 10 ปีแล้ว จำนวนยอดหนี้ลดลงเรื่อยๆ บางรายเป็นหนี้ไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอกับจำนวนเงินฌาปนกิจ ช.พ.ค.ที่วางเป็นหลักค้ำประกันให้กับธนาคาร แต่ยังต้องจ่ายเบี้ยประกันปีละกว่า 1 หมื่นบาท จนต้องกลายเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันสินเชื่อกับธนาคารเพิ่มขึ้นอีก
“ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ผมยังต้องจ่ายเบี้ยประกันปีละกว่า 1 หมื่นบาท ทั้งที่ยอดหนี้รวมเดิมลดลงจาก 1.2 ล้านบาท เหลือ 860,000 บาท หลังจากที่ผ่อนชำระเดือนละ 7,500 บาทมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 แต่ก็ยังคงต้องจ่ายเบี้ยประกันเงินกู้ปี พ.ศ.2566 นี้ จำนวน 10,962 บาท จนต้องกลายเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันสินเชื่อ ช.พ.ค.กับธนาคารออมสิน เพราะผมยังไม่ได้ไปจ่าย” นายปัญญากล่าวและว่า ตนอยากเรียกร้องให้ พล.ต.อ.เพิ่มพูนและนายพีระพันธ์ ได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสในการทำสัญญาประกันสินเชื่อ ช.พ.ค.ด้วย เช่น ตามกฎหมายประกันภัยสามารถทำได้หรือไม่ ในกรณีที่ธนาคารออมสินสำรองจ่ายค่าสัญญาประกันสินเชื่อ ช.พ.ค. แล้วนำไปเพิ่มในยอดหนี้เงินกู้ของครู หรือล่าสุดปี 2566 ที่ระบุเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันสินเชื่อ ช.พ.ค.ให้ไปชำระ โดยที่ครูไม่ทราบเรื่อง และไม่เคยเห็นรายละเอียดของสัญญาประกัน.
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น