ข้อพิพาทชาตินิยมไทย-กัมพูชา เพื่อผลประโยชน์ของชาติ หรือแอบแฝงการเมือง?
กลุ่มการเมืองและนักเคลื่อนไหวทั้งของไทยและกัมพูชากำลังเร่งโหมไฟชาตินิยมเพื่อหวังผลทางการเมืองในการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลทั้งสองฝ่ายด้วยการหยิบประเด็นอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูดขึ้นมาสร้างเป็นกรณีพิพาททั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นข้อพิพาทใดมาก่อน
แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก่อหวอดเปิดประเด็นเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชามาตั้งแต่ต้นปี 2024 พากันลงพื้นที่จังหวัดตราดซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับกัมพูชาทั้งทางบกและทางทะเลเมื่อปลายเดือนธันวาคม เพื่อสร้างความหวาดวิตกให้กับประชาชนในพื้นที่ว่าพวกเขาอาจจะเสียเกาะกูดไปเพราะเหตุที่รัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยกำลังวางแผนเปิดการเจรจาเพื่อหาทางยุติข้อพิพาททางทะเลและร่วมกันพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมในอ่าวไทย ตามกรอบบันทึกความเข้าใจปี 2001 หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่า MOU 44
ในขณะเดียวกัน ชาวกัมพูชาโพ้นทะเลที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลในกรุงพนมเปญมานานได้เริ่มก่อกระแสมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2024 โดยกลุ่มเยาวชนของพรรคสงเคราะห์ชาติ (Cambodia National Rescue Party: CNRP) พรรคฝ่ายค้านที่ถูกยุบไปเมื่อปี 2017 ได้เปิดการประท้วงที่เกาหลีใต้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของ ฮุน มาเนต อ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด แต่การประท้วงครั้งนั้นไม่ได้รับการตอบสนองจากชาวกัมพูชาในประเทศเท่าใดนัก
เมื่อเร็วๆ นี้ ชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้นัดหมายกันชุมนุมประท้วงเพื่อปกป้องเกาะกูด ที่ลองบีช แคลิฟอร์เนีย ในวันที่ 19 มกราคม 2025 เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลกัมพูชาประกาศอย่างเป็นทางการว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชา หรือไม่ก็นำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ทั้งในสมัย เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และสมัยปัจจุบันที่มี แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าต้องการที่จะเปิดการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาภายใต้บันทึกความเข้าใจปี 2001 เพื่อแสวงหาแนวทางในการร่วมพัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์ในแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย
ความจริงแล้วบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเกาะกูดโดยตรง เพราะเป็นเพียงกำหนดให้ไทยและกัมพูชาตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคเพื่อเจรจาแบ่งพื้นที่ที่ได้มีการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน โดยกำหนดว่าพื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตรนั้นให้แบ่งพื้นที่ซึ่งเป็นทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีป ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
พร้อมกันนั้นก็ให้ทำการเจรจาเพื่อจัดทำระบอบพัฒนาร่วมและแบ่งปันผลประโยชน์จากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ขนาด 16,000 ตารางกิโลเมตรที่อยู่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือ
เกาะกูด เป็นของไทยทั้งในทางนิตินัยตาม สนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส 1907 และพฤตินัยด้วยว่ามีคนไทยหลายพันคนอาศัยอยู่มานาน อีกทั้งรัฐบาลไทยก็ได้ประกาศยกระดับให้เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตราดมาตั้งแต่ปี 2007 (พ.ศ. 2550) โดยไม่เคยปรากฏว่ารัฐบาลกัมพูชาอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูดอย่างเป็นทางการมาก่อน แม้ในประวัติศาสตร์อาจจะเคยมีบันทึกว่าประชาชนและสื่อมวลชนกัมพูชาจะอ้างว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่อาจจะถือเป็นข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศได้
ฝ่ายค้านของกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็เพิ่งจะมาจับประเด็นนี้ได้เมื่อนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวฝ่ายขวาของไทยตีความแผนผังประกอบบันทึกความเข้าใจปี 2001 ว่าเท่ากับเป็นการยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเหนือทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่องของไทยบริเวณเกาะกูด พร้อมกับทึกทักว่าถ้าหากบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ยังมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไป ประเทศไทยอาจจะเสียดินแดนเกาะกูดไปให้กัมพูชาได้ในอนาคต
เปิดประเด็นให้ขนาดนี้ ถ้าฝ่ายค้านกัมพูชาไม่หยิบขึ้นมาเป็นปัญหากดดันรัฐบาลก็ดูจะผิดวิสัยอยู่มาก
ร้อนถึงผู้นำกัมพูชา ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ซึ่งยังมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่อย่างล้นเหลือในประเทศ และนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ผู้เป็นลูกชาย ต้องออกมาแสดงจุดยืนกันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นไปด้วยท่าทีที่สุขุมลุ่มลึกและมีชั้นเชิงทางการเมืองอยู่มาก
นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต กล่าวในการปาฐกถาต่อนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทรัพยากรมนุษย์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2024 เพื่อตอบโต้ฝ่ายค้านที่เตรียมชุมนุมกันที่ลองบีช ความว่า
“ผมจะพูดให้ชัดเจน: การที่รัฐบาลไม่ได้ตอบโต้อะไรบนเฟซบุ๊ก ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่ได้ทำงานเพื่อปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน หรือไม่ได้ส่งเสริมการพัฒนาประเทศและยกระดับสถานะของกัมพูชาในเวทีสากล เราทำงานเรื่องนี้ทุกวัน...ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลุกขึ้นมาสะบัดธงและตะโกนคัดค้านสิ่งนั้นสิ่งนี้ สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือมุ่งเน้นไปที่งานของเรา”
แน่นอนนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาฉลาดพอที่จะไม่พูดให้ชัดเจนว่ารัฐบาลกัมพูชาเคยหรือไม่เคยอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด แต่เขายืนยันในหลักการสำคัญว่า ปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นแก้ได้ด้วยการ “เจรจาแบ่งเขต (delimitation) ปักปัน (demarcation) และพัฒนา (development)” พื้นที่ชายแดนนั้นเสีย โดย ฮุน มาเนต เน้นว่า เพื่อเป็นการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนรัฐบาล จึงยึดมั่นสามแนวทางนี้มาโดยตลอด
แต่คนที่พูดเรื่องนี้ได้ถนัดปากมากกว่าเห็นจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน เขาไม่พูดถึงความชัดเจนเรื่องปัญหาอธิปไตยเหนือเกาะกูดอีกเช่นกัน หากแต่พุ่งเป้าโจมตีไปยังฝ่ายค้านของกัมพูชาและกลุ่มอนุรักษนิยมฝ่ายขวาของไทย ว่าให้ระมัดระวังการปลุกระดมชาวกัมพูชาให้ประท้วงโดยเรียกร้องอธิปไตยเหนือเกาะกูด ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ระหว่างการเจรจาเขตแดนทางทะเลระหว่างกัมพูชาและไทย
อดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ผู้คร่ำหวอดในวงการกล่าวเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนเน้นย้ำว่า การปลุกปั่นความโกรธเคืองของประชาชนต่อประเทศเพื่อนบ้านเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์ โดยชี้ให้เห็นว่าข้อพิพาทเขตแดนกับไทยในอดีต โดยเฉพาะเมื่อ 15 ปีที่แล้ว (กรณีปราสาทพระวิหาร) ได้ทิ้งบาดแผลที่ยังไม่หายสนิท
“กับประเทศเพื่อนบ้าน เราต้องส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ หลังสงคราม ผมได้กำหนดเป้าหมายสองประการ เป้าหมายแรกคือการเปลี่ยนสนามรบในอดีตให้กลายเป็นพื้นที่พัฒนาและตลาดปัจจุบันเราประสบความสำเร็จไปกว่า 95 เปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีทุ่นระเบิด”
ฮุน เซน อธิบายถึงเป้าหมายประการที่สองของเขา คือการเปลี่ยนพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นเขตแห่งสันติภาพและความร่วมมือ เขาพูดหนักแน่นว่า “หากกัมพูชาต้องทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน เราจะต้องระดมกำลังทหารนับหมื่นคนตามแนวชายแดน ส่วนผู้ที่อยู่แนวหลังต้องส่งเสบียงไปยังแนวหน้า นี่คือสิ่งที่เราต้องการหรือ?”
อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เรียกร้องให้กลุ่มฝ่ายค้านในกัมพูชาเองและกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งในไทยรวมตลอดถึงประชาชนทั่วไปปล่อยให้รัฐบาลของทั้งสองประเทศแก้ไขปัญหาเกาะกูดผ่านการเจรจาทางการทูตจะดีกว่า นอกจากนี้ยังขอให้กองกำลังทหารหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวในพื้นที่เกาะกูด ไม่ว่าจะบนบกหรือทางทะเล เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งอันเนื่องมาจากความเข้าใจผิดหรือถูกปลุกปั่นให้เข้าใจผิด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความพยายามในการปลุกกระแสชาตินิยมอาจจะยังไม่ได้ผล เนื่องจากรัฐบาลของสองประเทศยังคงตั้งมั่นอยู่ในหลักการว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ผ่านทางการทูตด้วยท่าทีที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยและเอื้ออาทรต่อกันฉันท์เพื่อนบ้านที่ดี แต่ก็ยังมีความจำเป็นอยู่เองที่จะต้องแสดงความชัดเจนว่า ประชาชนทั้งสองประเทศจะได้ผลประโยชน์อันใดจากการดำเนินการแก้ไขข้อพิพาทและการแบ่งปันผลประโยชน์ในอ่าวไทยครั้งนี้
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น