ความรุนแรงพุ่ง 1.2 พันเคส-เสียชีวิต 1.7% อึ้งทารกถึง 6 ขวบโดนด้วย กทม.มากสุด
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า เดือน พ.ย.ของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” เพื่อกระตุ้นให้ทุกคน ทุกภาคส่วนของสังคมได้เห็นความของการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวทุกรูปแบบ โดยใช้ริบบิ้นสีขาว “White Ribbon” เป็นสัญลักษณ์สากลที่ใช้ในการรณรงค์ ทั้งนี้ หากพบเห็นการกระทำ ความรุนแรงในสังคม สามารถแจ้งเหตุมาที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งเหตุผ่าน Line OA “ESS Help Me” เพียงกดเพิ่มเพื่อน @esshelpme ซึ่งทีม “พม. หนึ่งเดียว” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รายงานการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.2565-ก.ย.2566) ทั้งสิ้น 2,312 ราย โดยพบว่าเดือนที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุดคือ พ.ย.2565 จำนวน 212 ราย และ มิ.ย.2566 มี 212 ราย อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนที่เหลือยังพบเหตุการณ์ความรุนแรงในระดับ 150 รายขึ้นไป ซึ่ง 5 จังหวัดที่มีความรุนแรงมากที่สุดคือกรุงเทพฯ 202 ราย ราชบุรี 84 ราย เชียงราย 77 ราย เชียงใหม่ 55 ราย และกาญจนบุรี 54 ราย ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดเป็นเพศหญิง 1,931 ราย เพศชาย 381 ราย อายุที่ถูกกระทำมากที่สุดคือ 36-59 ปี 874 ราย อายุ 19-35 ปี 742 ราย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 289 ราย อายุ 7-18 ปี 380 ราย และทารกแรกเกิด-6 ขวบ 27 ราย โดยรูปแบบความรุนแรงที่พบคือเป็นความรุนแรงทางด้านร่างกาย 54.5% ด้านจิตใจ 36.3% ความรุนแรงทางเพศ 7.5% โดยมีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรง 1.7% ส่วนผู้กระทำความรุนแรงมากที่สุดเป็นวัยกลางคน 36-59 ปีจำนวน 1,281 ราย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 106 ราย อายุ 19-35 ปี 874 ราย และกลุ่มวัยรุ่น 13-18 ปี 51 ราย
สำหรับการให้การช่วยเหลือมีการคุ้มครองสวัสดิภาพ 18% ส่งบ้านพักเด็กและครอบครัว 17.3% ให้คำปรึกษา 17% เยี่ยมบ้านสอบข้อเท็จจริง 12.6% สงเคราะห์ครอบครัว 12.1% ส่งโรงพยาบาล 6.7% เป็นต้น.
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น