Low Emission Zone เขตห้ามรถบรรทุกเข้า มาตรการลดฝุ่นที่ถูกใช้มากในยุโรป และ กทม. เตรียมประกาศใช้ในฤดูฝุ่นพิษ
ฝุ่น PM2.5 ส่งผลต่อชีวิตผู้คนมาอย่างยาวนานหลายปี และเป็นปัญหาซ้ำเดิมที่ยังแก้ไม่ได้ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้ว่าฯ มากี่สมัย คนก็ยังทวงถามตลอดว่าตกลงแล้วจะมีมาตรการป้องกันต้นตอแหล่งกำเนิดฝุ่นอย่างไร
แต่ล่าสุดกรุงเทพมหานครแถลงมาตรการสู้ฝุ่นออกมาแล้ว โดยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 กทม.แถลงว่าจะมีประกาศเขตควบคุมฝุ่น (Low Emission Zone) เป็นครั้งแรก มาตรการตามประกาศนี้จะห้ามรถบรรทุก 6 ล้อเข้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในบริเวณวงแหวนรัชดาภิเษก พื้นที่บังคับใช้ครอบคลุม 9 เขต ได้แก่ ดุสิต, พญาไท, พระนคร, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, สัมพันธวงศ์, คลองสาน, สาทร, ปทุมวัน และบางรัก รวมกับแนวถนนจุดตัด 39 จุด ครอบคลุม 13 เขต (31 แขวง) ได้แก่ บางซื่อ , จตุจักร, ห้วยขวาง, ดินแดง, ราชเทวี, วัฒนา, คลองเตย, ยานนาวา, บางคอแหลม, ธนบุรี, บางกอกใหญ่, บางกอกน้อย และบางพลัด
ประกาศนี้จะถูกบังคับใช้ประมาณช่วงต้นปี 2568 ตามเงื่อนไข 3 ข้อหลักคือ
1.เมื่อมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ระดับสีแดง 5 เขต
2.การพยากรณ์ล่วงหน้า 2 วัน มีค่าฝุ่น PM2.5 ระดับสีแดง 5 เขต หรือระดับสีส้ม 15 เขต มีอัตราการระบายอากาศน้อยกว่าที่กำหนด และมีทิศทางลมจากตะวันออก
3.หากมีการออกประกาศห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกจะประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.พยายามหาอำนาจทางกฎหมายที่จะใช้ในการควบคุมมลพิษตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ที่สภา กทม. พยายามเสนอข้อบัญญัติที่จะให้รถสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด แต่ปรากฏว่า กทม. ทำไม่ได้ เพราะการควบคุมเรื่องรถขนส่งสาธารณะเป็นอำนาจของกรมขนส่งทางบก
ทาง กทม.จึงใช้อำนาจตามมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งให้อำนาจผู้ว่าฯ ในกรณีเกิดเหตุ หรือใกล้จะเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ใด สามารถให้ กทม. กำจัดต้นตอของสาเหตุของสาธารณภัยได้ จึงเกิดเป็นประกาศฉบับนี้ขึ้น
ชัชชาติ อธิบายว่า หลักการคือ กทม.จะไม่ห้ามรถบรรทุกทุกคัน แต่จะห้ามเฉพาะรถบรรทุกดีเซลที่เป็นแหล่งต้นต่อฝุ่น PM2.5 สูงสุด หรือประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์จากฝุ่นทั้งหมด โดยเฉพาะรถที่เป็นเครื่องยนต์เก่าตั้งแต่ Euro 4 ลงมา (Euro emissions standards มาตรฐานการควบคุมมลพิษในยุโรปมี Euro 1 ถึง Euro 6 เรียงลำดับจากการปล่อยมลพิษมากสุดไปน้อยสุดตามลำดับ)
“กทม.จะยกเว้นรถบรรทุกที่เป็น EV, NGV, Euro 5 และ Euro 6 ให้เข้ามาได้เพราะเป็นรถที่ปล่อยมลพิษน้อย แต่ในกรณีรถที่ต่ำกว่า Euro 5 แต่มีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรอง ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน จะถือว่าเป็นรถที่ลดการปล่อย PM2.5 ลง และจะให้รถเหล่านี้มาลงทะเบียนเป็นจะถูกบันทึกใน Green list หรือบัญชีสีเขียว ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้รถเหล่านี้เข้ามาในเขตได้”
ชัชชาติ เผยว่า กทม.จะเริ่มจัดทำบัญชีสีเขียวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 - 31 ธันวาคม 2567 ก่อนช่วงฝุ่น PM2.5 ในเดือนมกราคม โดยการตรวจจับจะใช้กล้อง CCTV ซึ่งติดตั้งแล้ว 257 ตัว และจะมีมาตรการตั้งด่านบูรณาการ 14 จุด เพื่อบันทึกป้ายทะเบียนรถบรรทุกที่ฝ่าฝืนประกาศและจะนำไปแจ้งความต่อไป ซึ่งผู้กระทำผิดจะเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือน
นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น การเชิญชวนให้ประชาชนเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง การขอความร่วมมือเครือข่ายต่างๆ ใช้มาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) รวมไปถึงการรณรงค์ให้ใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น
Low Emission Zone จะช่วยลดฝุ่นได้มากแค่ไหน
Low Emission Zone เป็นมาตรการที่ใช้กันมากกว่า 200 เมืองในเขตเมืองโซนยุโรป เช่น ลอนดอน สหราชอาณาจักรริเริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบัน โดยจะบังคับใช้สำหรับรถบรรทุกและรถบัส ซึ่งช่วยลดฝุ่นได้จริง
จนกระทั่งเมื่อปี 2019 ลอนดอนเริ่มใช้มาตรการ Low Emission Zone ที่เข้มข้นมากขึ้นและเริ่มใช้มาตรการ Ultra-Low Emission Zone (ULEZ) ที่ขยายขอบเขตควบคุมรถยนต์และรถตู้ที่มีมาตรฐานต่ำว่า Euro 4 โดยจะมีปรับเงินประมาณ 12.50 ปอนด์ต่อวัน (547 บาท) กระตุ้นให้คนหันมาใช้รถตามมาตรฐาน Euro 5 และ Euro 6 มากขึ้น
แต่มาตรการนี้ก็มีข้อยกเว้นและส่วนลดค่าปรับให้สำหรับพาหนะบางชนิด เช่น รถของคนในพื้นที่ แท็กซี่ พาหนะที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รถของเจ้าหน้าที่รัฐ(มีส่วนลด) พาหนะสำหรับผู้พิการ และรถโดยสารไม่ประจำทางต่างๆ
วิธีนี้ยังถูกนำไปใช้ในหลายประเทศ เช่น สวีเดน เบลเยียม อิตาลี และอินโดนีเซีย ซึ่งทุกประเทศมีฝุ่นลดลง และช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้นจริง อย่างในสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน หลังจากใช้มาตรการประมาณ 4 ปี สามารถลดฝุ่นลงได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และลดจำนวนรถที่ขับเข้ามาในเมืองลงได้
อย่างไรก็ตาม วิธีการของ Low Emission Zone นี้ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นวิธีที่ช่วยลดฝุ่นได้แค่เฉพาะตัวเมืองชั้นในเท่านั้น ส่วนพื้นที่นอกเมืองต่างๆ ก็ยังคงเต็มไปด้วยฝุ่นเหมือนเดิม และอาจสร้างความไม่พอใจให้คนพื้นที่นอกเขตบังคับใช้ได้
ตามข้อมูลของ WRI Indonesia สถาบันวิจัยอิสระในอินโดนีเซียยังระบุถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา เช่น การจราจรหนาแน่นขึ้นในพื้นที่อื่น ประชากรเข้ามาอยู่ในตัวเมืองมากขึ้น ผลกระทบต่อธุรกิจรายย่อย และข้อกังวลเรื่องความเท่าเทียมทางสังคม
ผลกระทบเหล่านี้ปรากฏให้เห็นแล้ว ในเมืองโคตาตัว โซนเมืองเก่าในจาการ์ตา อินโดนีเซีย หลังจากประกาศให้เป็นเขตคาร์บอนต่ำทำให้มีประชากรในพื้นที่หนาแน่นขึ้น และส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่พร้อม เช่น ถนนทางเลี่ยงซึ่งไม่ใช่พื้นที่โซนคาร์บอนต่ำมักเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ถูกพัฒนาเต็มที่และมีถนนแคบ ทำให้เกิดการจราจรติดขัด นอกจากนี้ยังตามมาด้วยผลกระทบของคนในพื้นที่นอกเขตคาร์บอนต่ำที่จะมีความเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้น เพราะรถต้องเลี่ยงไปถนนบริเวณนั้น และพื้นที่เหล่านั้นมักไม่มีความพร้อมเรื่องทางม้าลาย ไฟจราจร หรือป้ายต่างๆ เหมือนในเมือง
การจัดการมลพิษทางอากาศในเมืองจึงยังต้องอาศัยอีกหลายมาตรการเพื่อช่วยส่งเสริมไปพร้อมๆ กัน ตามข้อมูลของหนังสือ ‘สมุดปกเขียวอากาศสะอาด’ จัดทำโดยเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย (Thailand can) มีข้อเสนอในการจัดการอากาศสะอาดในเมือง ระบุว่าสำหรับมาตรการภาคยานยนต์และขนส่ง นอกจากการใช้วิธี Low Emission Zone ยังต้องมีมาตรการอื่นๆ ด้วย เช่น มาตรการคุณภาพเชื้อเพลิง มาตรการส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะ มาตรการการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด มาตรการทำงานที่บ้านและมาตรการที่ช่วยส่งเสริมให้คนหันมาใช้พลังงานสะอาด
ส่วนการบริหารจัดการอื่นๆ สิ่งสำคัญของพื้นที่เมืองคือการวางผังเมืองที่เหมาะสม ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการนำเสนอกลยุทธ์กระจายมลพิษทางอากาศในเขตเมืองที่มีความหนาแน่นสูงด้วยมาตรการการปรับรูปแบบเมืองให้เหมาะสม ซึ่งด้วยลักษณะความเร็วลมและสภาพอากาศที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่จึงต้องมีการวางรูปแบบเมืองเพื่อออกแบบให้ควบคุมสภาพแวดล้อมด้านกระแสลม เช่น การจัดวางทิศทางอาคาร ความกว้างของถนน ทางระบายอากาศในเมือง ความหนาแน่นของอาคาร และพื้นที่สีเขียวต่างๆ
กรณีศึกษาที่ทำวิธีนี้คือเยอรมนี ประเทศแรกที่ริเริ่มทำแผนผังแสดงทางระบายอากาศ หรือที่เรียกว่า Ventilation Lane ทำให้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนอากาศในแนวราบ หรือในฮ่องกงที่มีอาคารหนาแน่นก็นำวิธีนี้ไปปรับใช้ในการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐเช่นกัน
แม้โครงการ Low Emission Zone จะเป็นสัญญาณที่ดีในการป้องกันต้นตอของฝุ่น PM2.5 ได้อีกทางหนึ่ง แต่ยังมีอีกหลายด้านที่ต้องส่งเสริมไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้คุณภาพอากาศของทุกคนดีขึ้น ก่อนที่ฤดูฝุ่นพิษจะเข้ามาทำลายปอดของพวกเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ความคิดเห็น