ทักษิณบนชั้น 14 ยังสบายดีไหม? เมื่อ กมธ.ตำรวจ ไป ‘ศึกษาดูงาน’ มาตรฐานดูแลนักโทษ ท่ี รพ.ตำรวจ
- นับตั้งแต่ 22 สิงหาคม 2566 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวัย 74 ปี กลับไทย จนผ่านมา 143 วัน ทักษิณยังคงรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
- ความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง จากอาการป่วยของทักษิณที่ก่อนหน้านี้ยังดูแข็งแรงดี แต่หลังจากทักษิณถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ สาธารณชนก็ยังไม่ทราบอาการป่วยของทักษิณว่าเป็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากอาการคนไข้เป็นสิทธิส่วนบุคคล
- ด้วยความสงสัยเหล่านี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตำรวจ จึงเข้าตรวจสอบเรื่องนี้ และเดินทางไปเยี่ยมศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 โดยการตรวจสอบเรื่องนี้ยังคงไม่สิ้นสุดและรอเอกสาร 3 ฉบับ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ต้องส่งให้ กมธ.ตำรวจ เพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไป
นับตั้งแต่ 22 สิงหาคม 2566 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วัย 74 ปี เดินทางกลับประเทศไทยในรอบ 17 ปี และถูกนำตัวเข้ากระบวนการกฎหมายส่งตัวขึ้นศาลฎีกา บังคับโทษ 3 คดี นับโทษรวมจำคุก 8 ปี และถูกคุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที (ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี)
แต่ในคืนเดียวกันทักษิณถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ เพราะมีอาการแน่นหน้าอกกะทันหัน ค่าออกซิเจนต่ำ และค่าความดันโลหิตสูงมาก จนผ่านมา 143 วัน ทักษิณยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ชั้นที่ 14
ความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง จากอาการป่วยของทักษิณที่ก่อนหน้านี้ยังดูแข็งแรงดี แต่หลังจากทักษิณถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ สาธารณชนก็ยังไม่ทราบอาการป่วยของทักษิณว่าเป็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากอาการคนไข้เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่สามารถเปิดเผย หรือให้ข้อมูลกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้
ด้วยความสงสัยเหล่านี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตำรวจ โดยมี ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และประธาน กมธ.ตำรวจ จึงเข้าตรวจสอบเรื่องนี้ และเดินทางไปเยี่ยม ‘ศึกษาดูงาน’ ที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567
แม้จะได้เข้าเยี่ยมที่อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ชั้น 14 เพียงด้านหน้าชั้น โดยไม่ได้เข้าในห้อง เนื่องจากเป็นพื้นที่หวงห้าม โดยการตรวจสอบเรื่องนี้ยังคงไม่สิ้นสุดและรอเอกสาร 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ผู้เดินทางมาเยี่ยม 2. ค่าใช้จ่ายการรักษา 3. สำเนาประวัติทักษิณก่อนเข้าเรือนจำ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ต้องส่งให้ กมธ.ตำรวจ เพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไป
ทักษิณป่วยหนักขนาดไหน?
เมื่อเวลาล่วงเลยมาเกิน 120 วัน หรือ 4 เดือน ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ระบุไว้ว่า กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาเกินกว่า 120 วัน ให้ผู้บัญชาเรือนจำดำเนินการหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการพักรักษาตัวเกิน 120 วัน ของทักษิณ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะส่งเรื่องทักษิณให้รับทราบภายในสัปดาห์นี้ ส่วนเหตุผลที่ล่าช้า เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ต้องร่วมกับแพทย์ประชุมเรื่องอาการป่วย แต่รายละเอียดขอเห็นเอกสารก่อน ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์จะชี้แจงด้วย ทั้งนี้ ตามกฎหมายแม้รัฐมนตรีเป็นเพียงแค่ผู้รับทราบ แต่จะขอดูรายละเอียดของเรื่องด้วย เพราะว่าการตัดสินใจทั้งหมดอยู่ในอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 กรมราชทัณฑ์เห็นชอบให้ทักษิณสามารถรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจต่อได้ จากที่แพทย์แจ้งความเห็นว่าผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต
ตามจรรยาบรรณของแพทย์ การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลจำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย กรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 และข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกร พ.ศ. 2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
กมธ.ตำรวจ สอบหนักกับความสองมาตรฐานการดูแลนักโทษ
การตรวจสอบของ กมธ.ตำรวจ เริ่มขึ้นจากเรื่องร้องเรียนของ วัชระ เพชรทอง อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ตรวจสอบการควบคุมนักโทษที่เข้ารับการรักษาพยาบาล และพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และเข้าพิจารณาใน กมธ.ตำรวจ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566
ชัยชนะ เดชเดโช ในฐานะประธาน กมธ.ตำรวจ ได้ตั้งคำถามกับกรมราชทัณฑ์ถึงขั้นตอนในการรับนักโทษชาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อสงสัย อาทิ วิธีการพิจารณา งบประมาณในการรักษา และรถที่ไปรับที่สนามบินไม่ใช่รถของกรมราชทัณฑ์ แต่เป็นที่น่าผิดหวัง เพราะไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างจากกรมราชทัณฑ์
ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ เมื่อเข้าสู่เรือนจำในวันแรก นักโทษจะต้องมีการกักตัวและตัดผมก่อน จึงจะสามารถย้ายจากแดน 7 (สถานพยาบาลของเรือนจำ) ไปรักษาตัวในแดน 2 (แดนกักโรค สำหรับนักโทษใหม่ทุกคนที่เพิ่งเข้า) แต่นักโทษชายทักษิณกลับถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจภายในคืนนั้น โดยแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้แจงว่าทักษิณมีโรคประจำตัว ได้แก่ 1. ความดันโลหิตสูง 2. เส้นเลือดตีบตัน 3. ไวรัสตับอักเสบบี
พงศ์ภัค อารียาภินันท์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยให้ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เป็นเพียงการปรึกษาหารือกันระหว่างแพทย์ในคืนนั้น ซึ่งแพทย์ได้บอกว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์น่าจะมีศักยภาพไม่เพียงพอ ซึ่งโดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว กรมราชทัณฑ์ จะต้องส่งตัวไปที่โรงพยาบาลแม่ข่ายที่สังกัดอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขตามสิทธิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ส่วนระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ ชัยชนะ ระบุว่า แม้กฎกระทรวงออกมาตั้งแต่ปี 2563 และมีการแก้ระเบียบในปี 2564 ในยุคของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่อนุญาตให้ระเบียบดังกล่าวถูกประกาศใช้ แต่กลับถูกประกาศใช้ทันทีในยุคของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน
จนกระทั่ง กมธ. มีกำหนดการเข้าศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ที่โรงพยาบาลตำรวจ ในวันที่ 12 มกราคม 2567 ชัยชนะ เดชเดโช ในฐานะประธาน กมธ.ตำรวจ และคณะ เข้าหารือกับแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ พบว่ามีผู้ต้องขังถูกส่งมารับการรักษาแบบค้างคืนเพียงคนเดียวคือทักษิณ ที่เหลือเป็นผู้ต้องขังที่มาจากเรือนจำพิเศษมีนบุรีแบบเช้าเย็นกลับ 2 ราย
ทั้งนี้ กมธ.ตำรวจ ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปตรวจเยี่ยมถึงชั้น 14 เพื่อดูขั้นตอนและวิธีการคุมขัง พบมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ 2 นาย ปฏิบัติงานร่วมอยู่กับตำรวจ 3 นาย จากสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และตำรวจสันติบาล 3 นาย แต่ไม่ได้เข้าไปด้านใน ส่วนหน้าห้องที่บอกว่าใช้ควบคุมตัวนายทักษิณนั้น พบว่าไม่ได้ล็อก มีผู้คุมเดินเข้าออกได้ตลอด และคณะ กมธ.ตำรวจ ไม่ได้พบทักษิณ เพราะติดกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
โดยเบื้องต้นได้ขอเอกสารจากกรมราชทัณฑ์ ประกอบด้วย
1. เอกสารผู้ที่จะเดินทางมาเยี่ยมแล้วลงลายมือชื่อไว้
2. เอกสารค่าใช้จ่ายการรักษา ที่เดิมใช้สิทธิ์การรักษาของ สปสช. แต่สิ้นสุดหรือเกินเวลาที่กำหนด จึงใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวได้ กรณีนี้อยู่ในข้อบังคับข้อไหนของกรมราชทัณฑ์
3. สำเนาใบกรอกประวัตินายทักษิณก่อนเข้าเรือนจำได้มีการกรอกไว้หรือไม่ ถือเป็นการสอบถามตามขั้นตอนปฏิบัติของกฎหมาย สิ่งไหนกรมราชทัณฑ์จะให้ได้หรือไม่ได้ก็ขอให้ตอบมา ทางกรรมาธิการยังคงติดตามเรื่องนี้ต่อ
“ถือว่าไม่ผิดหวัง ส่วนทักษิณจะรักษาอยู่ที่นั่นหรือไม่ ต้องไปถามกรมราชทัณฑ์ เพราะผมอยู่ได้แค่หน้าห้อง ยืนยันไม่มีความข้องใจกับทางโรงพยาบาลตำรวจ แต่ยังข้องใจกับกรมราชทัณฑ์ จึงได้ขอเอกสารไป ทักษิณไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้ากรมราชทัณฑ์ไม่ต้องการเป็นจำเลยสังคม ก็ต้องชี้แจงให้เข้าใจ”
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น