ผนึก 2 GI ดินด่านเกวียนกาแฟดงมะไฟ พัฒนาดริปเปอร์กาแฟ-ภาชนะกินเข่าค่ำ
ดินด่านเกวียน เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จ.นครราชสีมา กาแฟดงมะไฟ เป็นอีกหนึ่งสินค้าจีไอเมืองย่าโม มีรสชาติกลมกล่อม กลิ่นหอม มีคาเฟอีนน้อยแค่ 1%...จะเป็นอย่างไรเมื่อทั้ง 2 สินค้าจีไอถูกหล่อหลอมให้กลายเป็นอีกผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า แถมยังใกล้เคียงกับซีโร่ เวสท์ เข้าไปทุกที
“ในกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาจากดินด่านเกวียน มีดินเหลือทิ้งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ขณะที่กระบวนการผลิตและแปรรูปกาแฟดงมะไฟ มีกากกาแฟที่นำไปทำเป็นปุ๋ยใส่พืชผัก เราจึงสนับสนุนให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในการนำของเหลือจากทั้งสองอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการ เพิ่มโอกาสการแข่งขันเชิงพาณิชย์ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม การสร้างฟิลเตอร์เซรามิกสำหรับดริปกาแฟจากเนื้อดินด่านเกวียนและกากกาแฟดงมะไฟ พร้อมกับถ่ายทอดเทคโน โลยีให้กับชาวบ้าน อันจะเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สร้างความยั่งยืนให้กับคนในพื้นที่ต่อไป”
ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผอ.กลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เล่าถึงที่มาของการผสาน 2 จีไอของ จ.นครราชสีมา สร้างความยั่งยืนให้ชาวบ้าน
สำหรับการสร้างฟิลเตอร์เซรามิก สำหรับดริปกาแฟจากเนื้อดินด่านเกวียนและกากกาแฟดงมะไฟ มี ผศ.ดร.อ่อนลมี กมลอินทร์ สาขาวิชานวัตกรรมเซรามิก คณะเทคโน โลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นหัวหน้าโครงการ ใช้องค์ความรู้จากวัสดุศาสตร์ด้านเซรามิกมาสร้างผลิต ภัณฑ์ และส่งเสริมการดื่มกาแฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยการต่อยอดใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น
โดยการผสานดินด่านเกวียนและกาแฟดงมะไฟ สร้างเป็นชุดดริปเปอร์เซรามิกที่มีความเป็นฟิลเตอร์ในตัว และหาอัตราส่วนผสมของเคลือบขี้เถ้าจากกากกาแฟดงมะไฟ สำหรับตกแต่งชุดดริปเปอร์ นับเป็นสินค้าแปลกใหม่ที่มีสีสันเทียบเท่าต่างประเทศ รวมถึงออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวการทำกาแฟและเครื่องปั้นดินเผา ให้มีความโดดเด่น ทันสมัย และถูกใจคอกาแฟ
วัสดุที่พัฒนาขึ้นมีความแข็งแรงเหมาะสมกับการนำไปใช้งานได้จริง สามารถนำตัวฟิลเตอร์เซรามิกไปดริปกาแฟชนิดต่างๆได้ตามกระบวนการดริปทั่วไปโดยไม่ต้องใช้กระดาษกรอง ในปริมาณกาแฟคั่วบด 12-15 กรัม จะช่วยให้กาแฟมีความเข้มและนุ่มนวล รู้สึกถึงรสชาติผลไม้จากการดริป พร้อมกับมีคู่มือให้ผู้ใช้งาน วิธีแก้ไขการอุดตันของฟิลเตอร์ นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ยังปราศจากสารพิษในดิน จึงเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ขณะนี้กำลังยื่นจดอนุสิทธิบัตรและถ่ายทอดให้เจ้าของกิจการกาแฟดงมะไฟ
ส่วนผลงานการสร้างสรรค์ “ชุดทานเข่าค่ำที่โคราช” นายชัยศิริ หลวงแนม สาขาวิชานวัตกรรมเซรามิก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้นำดินที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากการผลิตกระเบื้องของเครือเอสซีจี มาผสมผสานกับดินเหลืองด่านเกวียน และดินดำ พัฒนาเป็นภาชนะใส่อาหารในวัฒนธรรมกินเข่าค่ำของชาวโคราช
เพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติซีโร่ เวสท์ให้ใกล้เคียงกับความหมายของ ‘ของเสียเหลือศูนย์’ โดยเอสซีจีได้ประสานงานเพื่อเป็นตัวเชื่อมโยงนำศาสตร์การทำเครื่องปั้นดินเผาสู่ชุมชน และประยุกต์ใช้ในประเพณีการรับประทานอาหารเย็นแบบพื้นถิ่น โดยมอบดินเหลือใช้ให้กับชุมชนปีละ 60-80 ตัน มาพัฒนาผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ ผลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีพบว่าส่วนประกอบของดินมีซิลิกาสูง รวมถึงธาตุเหล็ก ทำให้สีของภาชนะมีความแตกต่างจากแหล่งอื่นและมีความมันวาว โดยนักวิจัยได้ทดลองหาอัตราส่วนผสมของดิน ที่มีการหดตัวน้อยก่อนนำมาปั้นเข้าเตาจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เผาเคลือบเตาฟืนและชุดกินเข่าค่ำ.
ขอขอบคุณ แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/2702818
ความคิดเห็น