ไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-โคราช ผ่านมา 6 ปี สร้างคืบหน้าแล้ว 30% ลุ้นได้นั่งปี 71
ไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-โคราช ระยะทางกว่า 253 กิโลเมตร มูลค่า 179,413 ล้านบาท ผ่านมา 6 ปี สร้างคืบหน้าแล้ว 30% ลุ้นได้นั่งปี 71
ถือเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย ที่ได้มีการตอกเข็มเดินหน้าก่อสร้าง สำหรับรถไฟไทย-จีนหรือรถไฟความเร็วสูงสาย กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ซึ่งรัฐบาลใช้เงินลงทุน 179,413 ล้านบาท
โดยโครงการได้แบ่งการก่อสร้างงานโยธาเป็น 14 สัญญา เริ่มออกสตาร์ทก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2560 ความคืบหน้าล่าสุดภาพรวมรุดไปแล้วกว่า 30.96% คาดก่อสร้างเสร็จในปี 2571 ซึ่งแผนการเปิดขยับมาหลายครั้ง จากเดิมปี 2566 เป็นปี 2569 ปี 2570 และปี 2571 ในปัจจุบัน
ขณะที่ความก้าวหน้าในแต่ละสัญญา พบว่ามีการเปิดพื้นที่ก่อสร้างตามความพร้อม โดยก่อสร้างแล้วเสร็จแล้ว 2 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศกและสัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก และยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดงและช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร ผลงาน 00.00 %
สัญญา 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร ผลงาน 53.51% สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.60 กิโลเมตร ผลงาน 43.87%
สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โครกกรวด ระยะทาง 37.45 กิโลเมตร ผลงาน 72.43% สัญญา 3-5 โคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กิโลเมตร ผลงาน 05.87%
สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร ผลงาน 0.27% สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ผลงาน 26.25%
สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย มีผลงาน 03.98% สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กิโลเมตร ผลงาน 0.56% สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กิโลเมตร ผลงาน 50.40%
อีก 2 สัญญาอยู่ระหว่างดำเนินการรอความชัดเจน ได้แก่ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร ติดประเด็นการดำเนินการกับรถไฟความเร็วสูงสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และ EEC อยู่ระหว่างการเร่งรัดการออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP)
และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กิโลเมตร ติดประเด็นมรดกโลกสถานีอยุธยา โดยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 คณะกรรมการ(บอร์ด)รฟท.ได้อนุมัติจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัดและเตรียมจะเซ็นสัญญาในเร็วๆนี้
สำหรับแนวเส้นทางโครงการพาดผ่าน 5 จังหวัด มีทั้งสิ้น 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา ระยะทางรวม 252.3 กิโลเมตร ตลอดเส้นทาง เป็นทางยกระดับ 181.9 กิโลเมตร ทางระดับพื้น 64.0 กิโลเมตร เป็นอุโมงค์ 6.4 กิโลเมตร ด้านการก่อสร้างจะใช้ระบบเทคโนโลยีของจีน
โดยแบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ ฝ่ายไทย รับภาระการลงทุนโครงการทั้งหมด และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ฝ่ายจีนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดงานโยธา และควบคุมการก่อสร้างงานโยธา ออกแบบและก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูง ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบควบคุมการเดินรถหรือสัญญา 2.3 มูลค่า 50,633.5 ล้านบาท
ขอบคุณแหล่งที่มา : khaosod
ความคิดเห็น