22 ล้านคัน คือตัวเลขจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือคิดเป็น 52.7% ของตัวเลขยานพาหนะทั้งหมดในประเทศ
และด้วยจำนวนที่มากขนาดนี้ จึงทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยครองแชมป์อันดับโลกมานานหลายปี และดูเหมือนว่าจะครองตำแหน่งนี้ไปอีกนาน จากตัวเลขการตายที่ไม่เคยลดลงเลย
ในการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวย การความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ครั้งที่ 4/2566 เมื่อเร็วๆนี้มีการรายงานสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2566 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งสิ้น 675 ราย ผู้บาดเจ็บ 106,588 ราย โดย 88.6% เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ไม่เหนือความคาดหมาย
แต่ที่น่าสนใจ คือ พฤติกรรมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่พบว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 675 ราย 113 รายเกิดจากการขับขี่ด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะในเขตชุมชน ซึ่ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้สั่งการให้สำนักการจราจรและขนส่งเข้มงวดจำกัดความเร็วในชุมชน และพื้นที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเป็นการเร่งด่วน
เกี่ยวกับความเร็วของรถจักรยานยนต์และการเกิดอุบัติเหตุ มีข้อมูลจาก โครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย โดยการสนับสนุนของ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยืนยันชัดเจนว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ใช้ความเร็วสูงกว่า 80 กม.ต่อ ชม. เมื่อประสบอุบัติเหตุจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยที่ผ่านมา อุบัติเหตุที่เกิดจาก “รถจักรยานยนต์” เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ คิดเป็น 80% ของการเกิดอุบัติเหตุในภาพรวมทั้งหมด
ที่น่าสนใจ คือ 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีสาเหตุมาจาก “ความเร็ว” เพราะการขับขี่รถด้วยความเร็วการควบคุมรถหรือหลบหลีกจากอุบัติเหตุจะทำได้ยากขึ้น และเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นหากเกิดอุบัติเหตุ
สอดคล้องกับข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ที่ดำเนินการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย โดยใช้เทคนิคการสืบสวนสาเหตุในเชิงลึกของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ทั้งหมด 1,000 เคส ระหว่างปี พ.ศ.2559 ถึง 2563 และพบว่าการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงของอุบัติเหตุ โดยพบว่าเมื่อรถจักรยานยนต์ใช้ความเร็วขณะขับขี่สูงกว่า 80 กม.ต่อ ชม. โอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 42 และเมื่อขับเร็วสูงกว่า 100 กม.ต่อ ชม. มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 80 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายิ่งขับรถด้วยความเร็วสูงมากขึ้นเท่าไร เมื่อเกิดอุบัติเหตุโอกาสเสียชีวิตจะสูงมากขึ้นเท่านั้น
ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางถนนหลายงานวิจัยที่ระบุตรงกันว่า ความเร็วสัมพันธ์กับโอกาสในการรอดชีวิต โดยถ้าขับรถด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วเกิดชนคนข้ามถนน มีโอกาสที่คนถูกชนจะรอดชีวิต หรือไม่บาดเจ็บรุนแรงถึง 90% ตรงข้ามกับการขับขี่รถชนคนในความเร็วที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป โอกาสที่ทั้งผู้ขับขี่และผู้ถูกชนจะรอดชีวิตแทบจะเป็นศูนย์ ในหลายๆประเทศที่พัฒนาแล้วจึงกำหนดให้อัตราความเร็วสูงสุดของการขับรถยนต์หรือขี่รถจักรยานยนต์ในเขตเมืองต้องไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
ข้อมูลจากมูลนิธิไทยโรดส์ยืนยันตรงกันว่า 76% ของอุบัติเหตุบนทางหลวงเกิดจากการใช้ความเร็ว ประกอบกับลักษณะทางกายภาพของถนนที่ไม่เหมาะสมกับการขับขี่ และพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย โดยปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุก็คือ “ความเร็ว” ที่ส่งผลให้ไทยมียอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งหากมีการจำกัดความเร็วที่เหมาะสม รวมถึงการขับขี่ด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดจะช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้ความเร็วลงได้มากกว่า 50%
พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลก ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ และหัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย ยืนยันว่า ผู้ใช้รถจักรยานยนต์มีความเสี่ยงจะเสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุมากกว่ายานพาหนะอื่น 27-34 เท่า และรถจักรยานยนต์ยังเป็นยานพาหนะที่ชนคนเดินเท้าตายมากที่สุดในไทย ทั้งๆที่จักรยานยนต์ คือรูปแบบการเดินทางที่สำคัญยิ่งในประเทศไทย.
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น