รู้แล้ว! ทำไมเดือน 'มกราคม' ถึงยาวนาน ผ่านไปช้ากว่าเดือนอื่น
รู้แล้ว! ทำไมเดือน ‘มกราคม’ ถึงยาวนาน ผ่านไปช้ากว่าเดือนอื่น ทั้ง ๆ ที่ก็มี 31 วันเท่ากัน กับเดือนที่ลงท้ายด้วยคม ผู้รู้เฉลยคำตอบแล้ว เพราะแบบนี้
เรียกว่าเพิ่งจะเริ่มต้นปี ได้แค่เดือนเดียว หลายคนกลับรู้สึกว่า “กว่าจะสิ้นเดือน เหมือนจะสิ้นใจ” ทำไม “มกราาาาาาาา” ถึงยาวนานกว่าปกติ ทั้งที่เพิ่งจะผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่ไปได้ไม่นาน แถมใน 1 ปี ก็มีหลายเดือนที่มี 31 วันอีกด้วย
วันนี้ “ทีมข่าวสดออนไลน์” ไม่รอช้า ขอพาไปหาคำตอบ ถึงสาเหตุ ของความรู้สึกที่เกิดขึ้น เป็นเพราะอะไรกันแน่?!
โดยความรู้สึกว่าเดือนมกราคม ยาวนานไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้าน “วิลเลียม สกายลาร์ก” (William Skylark) นักวิจัยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้อธิบายไว้ว่า คือ ปรากฎการณ์ ” January Crisis”
เวลาที่อยู่ในสมองเรา กับเวลาในโลกของความเป็นจริงนั้น จริง ๆ แล้วมันไม่เท่ากัน เเต่เกิดจากการรับรู้แต่ละวินาที
แต่ละช่วงเวลาของเราในตอนนั้น ซึ่งการรับรู้ที่ผิดเพี้ยนไปก็เกิดขึ้นได้จากหลายอย่าง เพราะสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการรับรู้ของเราในขณะนั้น
และอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรง คือ “สารโดปามีน” (Dopamine) ที่จะหลั่งออกมาเวลาที่คนเราเกิดความรู้สึกสุข สบายใจ หรือประสบความสำเร็จ
สารโดปามีนจะทำให้นาฬิกาในสมองเราเดินเร็วขึ้น และในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ได้รู้สึกมีความสุข ตื่นเต้น หรือกำลังเบื่อ เราก็ยิ่งรับรู้ว่าเวลามันเดินช้ากว่าความเป็นจริง
อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยระบุอีกว่า เดือนมกราคมจะเป็นช่วงเวลาที่มีการหลั่งโดพามีนออกมาน้อยกว่า 2 เดือนก่อนหน้า คือ เดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม
เพราะช่วงเดือนเหล่านี้ จะอัดแน่นไปด้วยเทศกาลเฉลิมฉลอง กิจกรรมต่าง ๆ วันหยุด ที่ชวนให้มีความสุขในทุก ๆ วัน สารโดพามีนนี้ ก็จะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษ ในช่วง 2 เดือนหลัง
กลับกันเดือนถึงเดือนมกราคมที่มี 31 วันเหมือนกัน กลับไม่มีวันหยุดหรือเทศกาลอะไรเลย แถมทุกอย่างต้องกลับมาสู่สภาวะปกติ ที่ต้องทำงานเหมือนเดิม ใช้ชีวิตเหมือนเดิม
วัยเด็กก็กลับไปเรียน ผู้ใหญ่ก็ต้องกลับมาทำงาน ด้วยจิตใจที่อาจจะยังติดอยู่กับความรู้สึกในเทศกาลปีใหม่ จึงทำให้โดพามีนนั้นหลั่งน้อยลง และคิดว่าเดือนมกราคมยิ่งดูยาวนานขึ้นไปอีกนั่นเอง
ข้อมูลจาก : newstatesman
ขอบคุณแหล่งที่มา : khaosod
ความคิดเห็น