อิสราเอล-ฮามาส สงครามทางอากาศยุคใหม่ อพยพแรงงานไทย ทำไมต้องรอ?
อิสราเอล ฮามาส สงครามทางอากาศยุคใหม่ แม้อิสราเอลมีกองทัพอากาศแข็งแกร่งระดับโลก แต่พลาดท่าให้กับกลุ่มฮามาสโจมตีในเวลาอันรวดเร็ว สร้างความเสียหายย่อยยับ ถึงมีระบบป้องกันขีปนาวุธอัจฉริยะ แต่จากนั้นต่างระดมโจมตีด้วยโดรนสังหาร กินเวลายาวนานกว่า 5 วัน ไม่มีทีท่าสงครามจะสงบ สำหรับ "น.ต.ศิธา ทิวารี" อดีตนักบิน F-16 กองทัพอากาศไทย ยอมรับว่า สงครามอิสราเอลและฮามาส เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยี กำลังพลในการรบทางอากาศ ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากสงครามในอดีต
การโจมตีที่รวดเร็วสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับอิสราเอล หลังการโจมตีของกลุ่มฮามาส ตั้งแต่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้นำอิสราเอลประกาศแก้แค้น ขณะที่แรงงานไทยในอิสราเอลก็กระทบอย่างหนัก จนมีการแจ้งความประสงค์ขอกลับไทยกว่า 5 พันราย
น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตนักบิน F-16 ของกองทัพอากาศไทย กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า นักบินรบกองทัพอิสราเอล ขึ้นชื่อว่ามีความเก่งระดับโลก เนื่องจากภูมิประเทศที่มีความเสียเปรียบ กองทัพอากาศจึงต้องมีความแข็งแกร่ง หลายครั้งต้องเปิดฉากโจมตีคู่ต่อสู้ก่อน ไม่อย่างนั้นจะเสียเปรียบเชิงภูมิศาสตร์ แต่การถูกโจมตีครั้งนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน ซึ่งเคยเกิดมาแล้วในสงคราม 6 วัน
“ผมเคยฝึกบิน F-16 ร่วมกับนักบินอิสราเอล เขามีการประยุกต์ใช้เทคนิคการบินที่เรียนมาจากอเมริกัน ได้ผลดีกว่า ขณะเดียวกัน เครื่องบินทุกประเภทของอิสราเอลมีเครื่องตรวจจับ เพื่อป้องกันการยิงระหว่างบินอยู่บนน่านฟ้า”
ขุมกำลังของกองทัพอากาศอิสราเอล มีเครื่องบินขับไล่ F-35 อยู่จำนวนมาก มีคุณสมบัติพิเศษในการพรางตัวบนน่านฟ้า ป้องกันการโจมตีทางอากาศ ซึ่ง F-16 ไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ เพราะตัววัตถุที่ทาสีเครื่องบินไม่ดูดซับเรดาร์ เครื่องบินขับไล่ F-35 มีขนาดเล็กลง แต่บรรทุกอาวุธได้มากขึ้น ถ้าเทียบศักยภาพ F-35 เพียง 1 ลำ สามารถโจมตี F-16 ได้ถึง 4 ลำ
เครื่องบินขับไล่ที่อิสราเอลมี เชื่อมต่อกับเรดาร์จากภาคพื้น สามารถเชื่อมต่อกับเรดาร์ของเครื่องบินลำอื่น ทำให้เวลายิงใส่คู่ต่อสู้ สามารถล็อกเป้าให้เครื่องยิงจรวดลำอื่นยิงมายังคู่ต่อสู้ได้ ต่างจาก F-16 ล็อกการยิงจรวดได้ทีละเป้า แต่เครื่องบินยุคใหม่สามารถยิงได้พร้อมกันหลายเป้า และจากเครื่องบินหลายลำพร้อมกัน หรือส่งเรดาร์ให้กับจรวดภาคพื้น ยิงขึ้นมาโจมตีเครื่องบินขับไล่ของคู่ต่อสู้ได้
"สงครามทางอากาศยุคใหม่ มีการใช้โดรนสังหาร แม่นยำ สามารถล็อกเป้าหมายได้ ต่างจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จะไปทิ้งระเบิดตึกไหนสักแห่งต้องใช้ระเบิดเป็นร้อยลูก หรือต้องใช้เครื่องบินเป็นสิบลำ เพื่อไปทิ้งระเบิดตึกเดียว แต่ยุคนี้ระเบิดลูกเดียวทำลายได้อย่างแม่นยำ แถมระเบิดบางชนิดทิ้งลงมาลูกเดียว ก่อนตกลงพื้นจะแยกลูกระเบิดออกมาอีกหลายลูก ทำให้ความเสียหายรุนแรงมาก ขณะเดียวกัน ระเบิดสามารถล็อกเป้าได้ว่าจะให้ระเบิดลูกไหนทิ้งเข้าไปยังหน้าต่างบานใดของตึก"
การใช้โดรนปราศจากคนขับ ทำให้ต้นทุนการทำสงครามต่ำลง ถ้าเทียบคือ โดรนทิ้งระบิด 100 ลำ มีมูลค่าเทียบเท่าเครื่องบินขับไล่ 1 ลำ ดังนั้น สงครามยุคใหม่ จึงใช้โดรนสังหารจำนวนมาก และมีโอกาสเล็ดลอดระบบป้องกันจรวดของอิสราเอลได้มากกว่า คุ้มค่ากว่าการเอาชีวิตทหารไปเสี่ยง ที่สำคัญเครื่องบินรบ 1 ลำ อาจสู้โดรนทิ้งระเบิดกว่าร้อยลำไม่ได้
อพยพแรงงานไทยในอิสราเอล ทำไมต้องรอนาน
การอพยพแรงงานไทย หลายคนมองกระบวนการทำงานของรัฐบาลไทยช้าไปหรือไม่ น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตนักบิน F-16 ของกองทัพอากาศไทย มองว่าการอพยพแรงงานไทยในอิสราเอล ควรมีด้วยกันหลายวิธี ขณะเดียวกัน ภูมิภาคอื่นของอิสราเอลที่ไม่ใช่ทางตอนใต้ที่ถูกโจมตี เครื่องบินยังสามารถขึ้นลงได้ปกติ หรือพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ซีเรีย รัฐบาลไทยสามารถจ้างเหมาลำเครื่องบินท้องถิ่น เพื่อมาส่งคนไทยได้ก่อน
“แรงงานไทยในอิสราเอลมีกว่า 3 หมื่นคน ถ้ารวมกับประชากรแฝงที่เป็นคนไทยเข้าไปอย่างไม่ถูกกฎหมายอาจมีถึง 5 หมื่นคน ซึ่งมีคนไทยที่ประสงค์กลับประเทศน่าจะมีถึง 4 พันคน ถ้าผูกติดว่าต้องเอาเครื่องบิน A 340 ของกองทัพอากาศไทยไปรับ อาจทำได้ช้า ทั้งที่เครื่องบินโดยสารในประเทศแถบนี้ มีระบบป้องกันการโจมตีเกือบทั้งหมด ถ้าเทียบกันดีกว่าเครื่องบินของกองทัพไทยไปรับด้วยซ้ำ”
สิ่งสำคัญภายในเครื่องบินที่ไปรับผู้อพยพในภาวะสงคราม ต้องมีการเตรียมแพทย์ นักจิตเวช และเครื่องมือที่รองรับผู้ป่วย ถ้าเป็นเครื่องซี-130 ลำเลียงคนกลับมาได้ประมาณ 80 คน หรือช่วงเกิดสึนามิที่อินโดนีเซีย เคยบรรทุกคนอพยพมามากสุด 250 คน แต่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยทางอากาศ
“รัฐบาลไทยควรดำเนินการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลกลับบ้านให้เร็วกว่านี้ โดยเหมาลำเครื่องบินท้องถิ่นของประเทศข้างเคียง ราคาแบบเหมาลำก็ไม่ต่างกันมาก ขณะที่นักบินก็มีความชำนาญภูมิประเทศ และมีอุปกรณ์ป้องกันการโจมตีทางอากาศ คุ้มกว่าเอาเครื่องบินของกองทัพลำเลียงกลับมาในหลายเที่ยว และทำให้การช่วยเหลือล่าช้า”
ทั้งนี้ อยากแสดงความเป็นห่วงแรงงานไทยในอิสราเอล อยากให้รักษาตัวเองให้อยู่ในที่ปลอดภัย ขณะเดียวกัน ก็เห็นใจข้าราชการไทยในการทำงาน ซึ่งทุกคนก็อยากให้มีทางออกในการช่วยเหลือคนไทยได้ปลอดภัยมากที่สุด.
ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2732266
ความคิดเห็น