โรงกลั่นสุราชุมชน ขอรัฐบาลสนับสนุนให้มีรายได้ยั่งยืน ดีกว่าอุ้มนายทุนผูกขาด
โรงกลั่นสุราชุมชน เริ่มซบเซาวอนรัฐแก้กฎหมายให้เหมาะสม หนุนถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิต และประชาสัมพันธ์ หนุนให้นำผลผลิตการเกษตรท้องถิ่นมาผลิตสุรา เพื่อสร้างชุมชนมีรายได้ยั่งยืน มากกว่าไปอุ้มนายทุนผูกขาด
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 66 เจ้าของโรงต้มสุราชุมชนห้างหุ้นส่วนจำกัด เพิ่มทรัพย์การสุรา ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.พุดซา อ.เมือง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถานการณ์ของธุรกิจสุราชุมชนค่อนข้างซบเซาเนื่องจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการผลิตสุราชุมชนหลายรายที่เคยวางแผนในการขยายกิจการเพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมสุราชุมชนของทางรัฐบาลยังไม่มีการเคลื่อนไหวและนอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้วยังประสบปัญหาต้นทุนในการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาของการน้ำตาลซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสุรา มีราคาเพิ่มสูงขึ้นจากปกติกิโลกรัมละ 5 บาทกว่า ปรับขึ้นมาเป็น 7.80 สตางค์
ผู้ประกอบการโรงกลั่นสุราชุมชน กล่าวต่อว่า อีกทั้งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ และไหนจะเรื่องของค่าแรงที่จะมีการปรับเพิ่มค่าแรงยิ่งทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากปัญหาที่กล่าวมาทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ ต.พุดซา ต่างชะลอการขยายการผลิตหรือแม้กระทั่งการผลิตสุรารูปแบบใหม่ นอกจากนี้ ยังติดขัดในเรื่องของกฎหมายบางอย่างที่ทำให้ผู้ประกอบการสุราชุมชนนั้นไม่สามารถที่ขยายกิจการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายย่อยที่มีทุนน้อยยิ่งได้รับผลกระทบ
ตัวแทนผู้ประกอบการฯ กล่าวอีกว่า อยากฝากไปยังรัฐบาลอยากให้ช่วยแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ผลิตสุราตั้งแต่รายเล็กจนไปถึงรายใหญ่ เช่น การขอเพิ่มกำลังแรงม้าในการผลิตจาก 5 แรงม้าไปเป็น 50 แรงม้า ในช่วงระยะที่ขอเปลี่ยนนั้นจะต้องใช้เวลา 2-3 เดือน และมีขึ้นตอนค่อนข้างเยอะโดยหนึ่งในนั้นคือต้องหยุดการผลิตในอัตราแรงม้าเดิม ซึ่งถ้าผู้ประกอบการคนไหนที่มีเงินทุนก็จะสามารถเปลี่ยนได้เลยเพราะสามารถผลิตสุราเอาไว้ก่อนล่วงหน้าได้จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการขายแต่ถ้าผู้ประกอบการรายย่อยที่มีเงินทุนน้อยจะได้รับผลกระทบ เพราะในระหว่างที่เปลี่ยนกำลังการผลิตนั้นจะไม่สามารถผลิตสุราได้หากมีลูกค้ามาสั่งในช่วงเวลาดังกล่าวก็จะไม่มีสุราออกมาขาย
เจ้าของโรงต้มสุราชุมชนฯ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการผลิตสุราชุมชน อยากเห็นความจริงใจจากรัฐบาล และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยกันสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้ในการผลิต การประชาสัมพันธ์เพราะไม่สามารถโฆษณาได้ และการส่งเสริมนำผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่มาผลิตสุราซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการผลิตสุรา และเกษตรกรในพื้นที่มีรายได้ที่ยั่งยืนและสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้.
ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/localbusiness/2726928
ความคิดเห็น