ถอดบทเรียนอุโมงค์ถล่มอินเดีย สัญญาณเตือนไปถึงผู้นำประเทศ
- ปฏิบัติการกู้ภัยเพื่อช่วยเหลือคนงาน 41 ชีวิตที่ติดอยู่ภายในอุโมงค์ที่พังถล่มของอินเดีย นับเป็นปฏิบัติการกู้ภัยที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งของการกู้ภัยอุโมงค์ถล่มที่เคยมีมาของอินเดีย เนื่องจากภูมิประเทศที่มีหินหลายชนิด ทำให้คาดคะเนความมั่นคงได้ยาก ประกอบกับเกิดแผ่นดินไหว ดินถล่ม น้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง กว่าปฏิบัติการช่วยเหลือจะสำเร็จ จึงเป็นงานหินไม่ใช่เล่น
- เดิมทีอุโมงค์นี้เริ่มสร้างขึ้นในปี 2018 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2022 แต่มีเหตุต้องล่าช้าออกไปเป็นช่วงกลางปี 2024 เนื่องจากโครงการนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม จนเกิดการถล่มดังกล่าว
- ก่อนหน้านี้ ในระหว่างที่มีการก่อสร้าง ที่พักอาศัยหลายร้อยหลังคาเรือน ต่างพบกับปัญหาดินทรุดตัวตามแนวเส้นทาง จนทำให้โครงการดังกล่าวนี้ถูกร้องเรียนอย่างมาก
ในที่สุดปฏิบัติการช่วยชีวิตคนงาน 41 ชีวิตที่ติดอยู่ภายในอุโมงค์ในรัฐอุตตราขัณฑ์ที่พังถล่มลงมาก็ประสบความสำเร็จ หลังจากที่ต้องใช้เวลายาวนานถึงกว่า 2 สัปดาห์ ใช้อุปกรณ์ขุดเจาะหลากหลาย และระดมสรรพกำลังของผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนมาก ซึ่งนับว่ายังโชคดีที่คนงานทั้งหมดออกมาได้อย่างปลอดภัย แต่ขั้นตอนกว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
อาร์โนลด์ ดิกซ์ ผู้เชี่ยวชาญปฏิบัติการใต้ดินของออสเตรเลีย ระบุว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ติดอยู่ในอันดับที่หินที่สุดหรือยากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ สำหรับปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในอุโมงค์เท่าที่เขาเคยประสบมา โดยดิกซ์ได้รับเชิญมาเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลอินเดียในปฏิบัติการช่วยชีวิตครั้งนี้ และต้องใช้ชีวิตอยู่ด้านหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์คืนแล้วคืนเล่า วันแล้ววันเล่า เพื่อให้ปฏิบัติการครั้งนี้สำเร็จลุล่วงลงได้
ความยากลำบากของการกู้ภัยครั้งนี้อยู่ที่การฝ่าด่านชั้นหินระยะทาง 60 เมตร เข้าไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเจอทางตันหลายรอบจากก้อนหินที่มีความแข็งมากจนไม่สามารถเจาะผ่านได้ จนทำให้เครื่องขุดเจาะพัง และต้องใช้เครื่องขุดเจาะบังคับมือมาช่วยในภายหลัง อีกทั้งยังต้องพิจารณาความเสี่ยงอีกหลายด้าน เพื่อไม่ให้คนงานที่ติดอยู่ภายในได้รับอันตรายจากการถล่มเพิ่มเติม และต้องมั่นใจว่าพวกเขาต้องออกมาได้อย่างปลอดภัยทุกคน
การใช้สว่านแนวตั้งหรือท่อ เพื่อเจาะเข้าไปในอุโมงค์จากด้านบนก็นับว่ามีอุปสรรคมาก เพราะความไม่มั่นคงของสภาพภูมิประเทศของภูเขาที่ยังมีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องของแหล่งน้ำเหนืออุโมงค์ เพราะหากเจาะไปเจอกับแหล่งน้ำอาจทำให้เกิดน้ำท่วม ส่งผลให้ทั้งผู้ช่วยเหลือและผู้ที่ติดอยู่ภายในตกอยู่ในความเสี่ยงทั้งสองฝ่ายได้
เบอร์นาร์ด กรุปเป ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมชาวออสเตรเลีย-เยอรมัน ที่รัฐบาลอินเดียจ้างมาดูแลการก่อสร้างอุโมงค์แห่งนี้เคยให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ ก็พบว่าสภาพทางธรณีวิทยาของพื้นที่มีความท้าทายมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ และยังไม่ชัดเจนว่าเพราะอะไรจึงไม่มีการก่อสร้าง "ทางหนีภัย" ทั้งๆ ที่ได้รับอนุมัติมาตั้งแต่ปี 2018 จนกระทั่งมาเกิดเหตุอุโมงค์ถล่ม
ทำความเข้าใจพื้นที่
เทือกเขาหิมาลัย เป็นเทือกเขาที่อายุน้อยที่สุดในโลก และเป็นที่ตั้งของยอดเขาที่สูงที่สุด โดยมีการก่อตัวขึ้นราว 45 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากมาทรุดตัวและซ้อนทับกันของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง
นักธรณีวิทยา ระบุว่า หินจำนวนมากทางตอนเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐอุตตราขัณฑ์เป็นหินตะกอน ได้แก่ ฟิลไลต์ หินดินดาน หินปูน ควอทซ์ไซต์ ซึ่งก่อตัวขึ้นเมื่อตะกอนที่หลุดร่อนจากพื้นผิวโลกถูกบีบอัดและยึดติดกัน ซึ่งเมื่อหินในพื้นที่มีความหลากหลายมาก และมีความแข็งต่างกัน ก็จะยิ่งทำให้พื้นที่นั้นมีความไม่คงที่สูง และในเมื่อโครงการนี้กินพื้นที่ถึง 4 เขตของอุตตราขัณฑ์ก็จะยิ่งมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเข้าใจสภาพของดินและหินในพื้นที่มีความแตกต่างกันมาก
ภูมิภาคนี้ ถือเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำคงคาและแม่น้ำสาขาหลักอื่นๆ ที่หล่อเลี้ยงชาวอินเดียกว่า 600 ล้านคนด้วยน้ำและอาหาร สภาพภูมิทัศน์เต็มไปด้วยป่าไม้ ธารน้ำแข็ง และน้ำพุ ซึ่งสภาพอากาศในประเทศอินเดียก็ได้รับอิทธิพลมาจากพื้นที่นี้เป็นหลัก
ถอดบทเรียน
งานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินซิลยาราความยาว 4.5 กิโลเมตรนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างทางหลวงแห่งชาติของอินเดีย บนเส้นทางแสวงบุญชาร์ ธัม ฮินดู ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลชาตินิยมฮินดู ภายใต้การนำของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียคนปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงสถานที่แสวงบุญตามความเชื่อของศาสนาฮินดู 4 แห่งในรัฐอุตตราขัณฑ์ ผ่านถนนที่มีความยาว 890 กิโลเมตร ซึ่งมีมูลค่าโครงการสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งนอกจากจะมีอุโมงค์ทางลอดหลัก 2 แห่งแล้ว ยังมีอุโมงค์ย่อยสำหรับโครงการเขื่อนพลังงานน้ำ และยังมีทางยกระดับและสะพานเล็กๆ อีกนับร้อยอยู่ภายใต้โครงการนี้ด้วย ซึ่งนักสิ่งแวดล้อมระบุว่า ภูเขาเหล่านี้ไม่ได้รองรับกับการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เช่นนี้
จากข้อมูลทางการระบุว่า ในปีนี้เกิดเหตุดินถล่มมากกว่า 1,000 ครั้งในรัฐอุตตราขัณฑ์ คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วกว่า 48 ศพ โดยมักเกิดขึ้นต่อเนื่องจากช่วงที่มีฝนตกหนัก ยิ่งไปกว่านั้นผลวิจัยยังระบุว่าดินชั้นบนในเทือกเขาหิมาลัยกำลังถูกกัดเซาะถึง 3 เท่าของค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยในปี 2013 เมืองเกทารนาถถูกน้ำท่วมครั้งใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากฝนตกหนักในฤดูมรสุม ทำให้ผู้คนหลายพันคนถูกน้ำพัดพาจมหายไป
นายธยานี อดีตสมาชิกของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลฎีกา กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการที่แนะนำให้สร้างอุโมงค์ที่มีขนาดเล็กลงถูกเพิกเฉย โดยการก่อสร้างยังคงเดินหน้าระเบิดภูเขาอย่างรุนแรง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะพังทลาย ซึ่งเขาเชื่อว่าทางการอาจจะจงใจละเลยการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการแบ่งการก่อสร้างอุโมงค์เป็นส่วนๆ ในระยะทางไม่เกิน 100 กม. พร้อมทั้งฝากบทเรียนจากอุบัติเหตุครั้งนี้ไปถึงรัฐบาล ให้เน้นให้ความสำคัญ กับปฏิกิริยาทางธรณีวิทยาที่คาดเดาไม่ได้ในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเทือกเขาหิมาลัย ควรให้ความสำคัญกับความแข็งแรง และการทนต่อภัยพิบัติและสภาพภูมิอากาศได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ควรเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างเข้ามาร่วมกำหนดนโยบายในโครงการก่อสร้างในพื้นที่ที่เปราะบางต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้เส้นทางในอนาคตควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการยักษ์ใหญ่ที่จะเชิดหน้าชูตาประเทศต่อไป.
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
ที่มา : BBC, France24, democracynewsฃ
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น