สุริยะ สั่งสอบ ตั๋วเครื่องบิน กรุงเทพฯ-ภูเก็ต แพง แม้ กพท.ยัน "ยังอยู่ในกรอบเพดาน"
สุริยะ สั่งสอบ ตั๋วเครื่องบิน กรุงเทพฯ-ภูเก็ต แพง แม้ กพท.ยัน “ยังอยู่ในกรอบเพดาน” โดยเตรียมเรียกสายการบินที่ให้บริการภายในประเทศทุกรายประชุม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากที่มีผู้โดยสารร้องเรียนว่า ราคาตั๋วเครื่องบินในปัจจุบันมีราคาแพง โดยเฉพาะในเส้นทาง กรุงเทพฯ – ภูเก็ต นั้น
กระทรวงคมนาคม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าว โดยได้สั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ดำเนินการตรวจสอบและหาแนวทางการแก้ไขทันที เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ และตอบสนองความต้องการของประชาชนในวงกว้างตามนโยบายของรัฐบาล
จากการรายงานของ กพท. ระบุว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กพท. ได้กำหนดราคาเพดานเพื่อควบคุมราคาขั้นสูง ทั้งในเส้นทางหลักและเส้นทางรอง โดยจำแนกเป็นอัตราสำหรับบริการต้นทุนต่ำและบริการเต็มรูปแบบ ซึ่ง กพท. ได้ตรวจสอบการกำหนดราคาบัตรโดยสารภายในประเทศของทุกสายการบินผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายทุกวัน ตรวจสอบยืนยันกับสายการบินโดยตรงทุกกรณี และยังไม่พบว่าสายการบินกำหนดราคาตั๋วโดยสารสูงกว่าราคาเพดานที่กำหนดแต่อย่างใด
สำหรับราคาเพดานที่กำหนดไว้ เป็นราคาตั๋วโดยสารสำหรับการเดินทาง (Air Fare) เท่านั้น ไม่ได้รวมค่าภาษี ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และไม่รวมในส่วนที่ผู้โดยสารเลือกการบริการเพิ่มเติม ในส่วนนี้ เป็นการให้บริการตามความสมัครใจของผู้โดยสารแต่ละท่าน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำหนักสัมภาระ ค่าประกัน ค่าเลือกที่นั่ง ยืนยันว่า การควบคุมดูแลด้านราคาของ กพท. ยังคงอยู่ในกรอบมาตรฐานราคาเพดานที่กำหนดไว้
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กพท. อยู่ระหว่างทบทวนการปรับเพดานค่าโดยสาร ซึ่งจะทำให้ราคาตั๋วโดยสารสูงสุดไม่แพงจนเกินไป แม้ว่าข้อมูลที่ กพท. รวบรวมจะพบว่า ตั๋วเครื่องบินที่มีราคาแพงเป็นเพียงส่วนน้อย เช่น ในเที่ยวบินช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา เส้นทาง ดอนเมือง-ภูเก็ต มีสัดส่วนตั๋วเครื่องบินที่มีราคาสูงกว่า 4,000 บาท เพียง 13.8% เป็นต้น
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของราคาค่าโดยสารนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการภาคท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทย ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับประชาชนด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้สั่งการให้ กพท. ไปหารือกับสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในวันที่ 20 ก.พ. กพท. ได้เรียกสายการบินที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศทุกราย เข้าร่วมประชุมหารือและชี้แจงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางในการปรับราคาเพดานลงดังกล่าว
สำหรับข้อมูลของ กพท. ระบุว่า สำหรับเส้นทาง กรุงเทพฯ – ภูเก็ต มีสายการบินภายในประเทศให้บริการจำนวน 6 สายการบิน รวม 92 เที่ยวบิน แบ่งเป็น ขาไปวันละ 46 เที่ยวบิน และขากลับวันละ 46 เที่ยวบิน ประกอบด้วย
1.บริการเต็มรูปแบบ มีราคาเพดานต่อเที่ยวอยู่ที่ 9,074 บาท หรือ 13 บาทต่อกิโลเมตร (กม.) ได้แก่ การบินไทย ให้บริการขาไป 8 เที่ยวบิน ขากลับ 8 เที่ยวเที่ยวบิน
2.บริการต้นทุนต่ำ มีราคาเพดานเฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ที่ 6,561 บาท หรือ 9.40 บาทต่อ กม. ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ขาไป 16 เที่ยวบิน ขากลับ 16 เที่ยวบิน, ไทยเวียตเจ็ต ขาไป 9 เที่ยวบิน ขากลับ 9 เที่ยวบิน, บางกอกแอร์เวย์ส ขาไป 5 เที่ยวบิน ขากลับ 5 เที่ยวบิน, ไทยไลออนแอร์ ขาไป 5 เที่ยวบิน ขากลับ 5 เที่ยวบิน และนกแอร์ ขาไป 3 เที่ยวบิน ขากลับ 3 เที่ยวบิน
source : มติชนออนไลน์
ขอบคุณแหล่งที่มา : khaosod
ความคิดเห็น