< รายการ

Without Justice, There can be no love เดือนแห่งความรัก ความยุติธรรม และเหตุผลที่ต้อง ‘นิรโทษกรรมประชาชน’

M
Admin
2024.04.12
ชอบ 0
มุมมอง478
ความคิดเห็น 0

เดือนกุมภาพันธ์ขึ้นชื่อว่าเป็นเดือนแห่งความรัก มักกระตุ้นเตือนให้เรานึกถึงความสัมพันธ์ และห้วงรักอันหวานชื่น แต่ปี 2024 นี้ต่างออกไปเพียงเล็กน้อยและมหาศาลในคราวเดียว เพราะภาคประชาชน และนักกิจกรรมหลายกลุ่ม กำลังเดินหน้ากระตุ้นเตือนเราถึงความรักและความยุติธรรม ผ่านแคมเปญ ‘นิรโทษกรรมประชาชน’

ทำไมต้องนิรโทษกรรมประชาชน -- คำตอบของคำถามอาจไม่หวานชื่นเหมือนวรรณกรรมโรแมนติก แต่การเดินทางของมันก็เต็มไปด้วยเรื่องราว ผู้คน หัวใจ และโยงใยของตัวละครทางสังคมจำนวนมาก จนกลายเรื่องราวที่ร้องหาและควรค่าแก่การรับฟัง

ไทยรัฐพลัสจะเล่าให้คุณฟัง เรื่องมันมีอยู่ว่า…

 

เรื่องของ ‘เรา’ เริ่มต้นขึ้นหลังรัฐประหาร

หลายคนอาจรู้สึกเหมือนนิทานเรื่องเก่า กับความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่นำมาซึ่งเฉดสีทางการเมือง และรอยแตกแยกในความสัมพันธ์ของรัฐและประชาชน 

กาลครั้งหนึ่งในยุคของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร มีการชุมนุมขับไล่อดีตนายกฯ คนนี้ในช่วงปี 2547-2548 จนนำมาสู่การรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 และหลังจากการรัฐประหารครั้งนั้น ประเทศไทยก็เริ่มสะสมความทรงจำที่เต็มไปด้วยบาดแผล 

เหตุการณ์ทางการเมืองยังวุ่นวายเรื่อยมา ผ่านเลือกตั้งที่ถูกล้ม พรรคการเมืองถูกยุบ การชุมนุมที่ยังเกิดขึ้นไม่เว้นปี และเมื่อกลไกทางการเมืองขณะนั้นไม่อาจสะสางความขัดแย้ง เหตุการณ์ที่หลายคนไม่มีทางลืมจึงเกิดขึ้นในปี 2553 ประชาชนคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงถูกปราบปรามอย่างรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 90 ราย และบาดเจ็บกว่า 2,000 ราย 

หลังจากเหตุการณ์นั้น แม้จะมีคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ที่ทำงานขาหนึ่งเพื่อหาทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมือง แต่อีกหนึ่งสิ่งที่พ่วงมาพร้อมกันคือจำนวนของผู้ต้องหาคดีทางการเมือง กับคำถามที่ยังค้างคามาจนถึงปัจจุบันว่า

รัฐจะรับผิดรับชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

ในช่วงปี 2556 หลังเหตุการณ์ผ่านไปไม่กี่ปี คำว่า ‘นิรโทษกรรม’ ถูกยกขึ้นมาพูดถึง และกลายเป็นประเด็นร้อนของสังคม เมื่อรัฐบาลในยุคของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามชงร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสภา แต่หัวใจหลักของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวดันมีผลนิรโทษกรรมครอบคลุมหลายฝ่าย จนได้ชื่อเล่นว่า ‘นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่ไม่ใช่การนิรโทษกรรมที่ทำไปเพื่อประชาชน เพราะครอบคลุมไปถึงบุคคลที่มีส่วนในการปราบปรามประชาชนด้วย 

และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้ ยังถูกครหาว่า ร่างขึ้นมาเพื่อช่วยให้ ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับบ้านโดยไม่มีคดีติดตัว

สุดท้ายแล้วร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในปี 2556 ก็ไม่เกิดขึ้น ประเทศไทยเดินทางต่อพร้อมบาดแผลอันค้างคา จนมาถึงช่วงที่สถานการณ์ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองเข้มข้นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือช่วงหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 

การรัฐประหารครั้งนั้นมาพร้อม ‘อาวุธ’ สำคัญที่ชื่อว่า มาตรา 44 ภายใต้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่ให้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการแก่คณะรัฐประหาร อำนวยความสะดวกในการกดปราบประชาชน โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหารกว่า 2,400 ราย

แม้หลังจากนั้นประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 สร้างความหวังแก่ประชาชนว่าเราจะถูกปลดปล่อยจากรัฐบาลทหาร แต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กลับกลายเป็นช่องทางในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดแรกซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารในการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี จนที่สุดแล้ว ประเทศไทยก็ยังตกอยู่ใต้ร่มเงาลายพราง ในยุคของนายกรัฐมนตรีชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ความขัดแย้งและกระแสความไม่พอใจก็แพร่สะพัด จนนำมาสู่การชุมนุมครั้งใหญ่ของประชาชนที่มีเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าร่วมจำนวนมาก และถือกำเนิดกลุ่มเคลื่อนไหวและกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ขึ้น บรรยากาศการแสดงออกทางการเมืองขณะนั้นถือว่าเข้มข้น และเปลี่ยนเพดานฟ้าของประเทศไทย โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศดังกล่าวก็มาพร้อมเงื่อนไขก้อนใหญ่ นั่นคือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินภายใต้ข้อกล่าวอ้างเรื่องการควบคุมโรค จึงมีการสั่งห้ามการรวมตัวกัน และเป็นการห้ามชุมนุมทางการเมืองไปโดยปริยาย 

นับแต่นั้นมา ประชาชนจำนวนมากก็ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาที่แตกต่างกัน ฐานความผิดที่มีประชาชนถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และนอกจากนั้นยังมีฐานความผิด มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมืองและข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ 

จากการรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการรัฐประหาร 2557 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองกว่า 1,800 ราย 

 

เขาจะจัดการด้วยกฎหมาย ‘ทุกฉบับ’

ที่เล่านิทานเรื่องเก่ามายืดยาว ก็เพราะท่ามกลางเรื่องทั้งหมดระหว่างเรา หลายคนมองหาทางคลี่คลาย ฝันถึงสังคมที่เดินต่อไปได้โดยไม่มีความบาดหมางอันเรื้อรัง นำมาซึ่งคำที่ถูกใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรอบหลายปี คือคำว่า ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ 

แต่เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร จะเริ่มใหม่ไปพร้อมกันได้อย่างไร หากผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นและทำกิจกรรมด้วยสิทธิเสรีภาพที่ตนมี ยังคงมีโทษทัณฑ์ติดตัว และนี่คือเหตุผลของการมีสิ่งที่เรียกว่า ‘นิรโทษกรรม’

โดยเนื้อตัวของมันแล้ว คำว่า ‘นิรโทษกรรม’ หมายถึงการลบล้างการกระทำความผิดที่กระทำไปแล้ว หรือยกเว้นความผิดโดยมีกฎหมายรับรอง เมื่อนิรโทษกรรมแล้วการกระทำนั้นจึงไม่ถือเป็นความผิด และผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมก็จะไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำผิดอีกต่อไป 

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วทำไมเราต้องลบล้างความผิดให้คนที่กระทำผิดด้วย 

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการใช้เสรีภาพการแสดงออกหรือการใช้เสรีภาพการชุมนุมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ไม่ควรเป็นความผิดต่อกฎหมายใดตั้งแต่แรก 

พูดอย่างเรียบง่ายที่สุด นิรโทษกรรมจะยุติการแปะป้ายว่าการแสดงออกทางการเมืองเป็นความผิดนั่นเอง

นอกจากนี้ เรายังไม่อาจมองข้ามการที่รัฐใช้อำนาจผ่านกฎหมายต่างๆ อย่างไม่ตรงไปตรงมาในยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่น การใช้มาตรการควบคุมโรคโควิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ข้อหาอั้งยี่หรือซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา, ข้อหาตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก หรือข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ไม่เว้นแม้แต่กฎหมายอาญามาตรา 112

กฎหมายหลายฉบับถูกนำมาใช้กับประชาชนที่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง แม้ตัวบทกฎหมายเองจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง จนทำให้เกิดการตั้งคำถามว่านี่คือความพยายามปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนหรือไม่ 

อีกทั้งในช่วงปี 2563 ที่การชุมนุมของประชาชนลุกโชน พลเอกประยุทธ์ยังเคยออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี โดยเตือนประชาชนให้ทราบว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้กฎหมาย ‘ทุกฉบับ’ กับผู้ชุมนุม และเมื่อถูกนักข่าวสอบถามว่ากฎหมายเหล่านั้นจะรวมถึงมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ก็ได้ให้คำตอบไว้ว่า

“ทำไม ก็เป็นกฎหมายทุกฉบับ สื่อเข้าใจคำว่ากฎหมายทุกฉบับหรือไม่ เข้าใจภาษาไทยหรือไม่ แปลภาษาไทยกันสิ คำว่ากฎหมายทุกฉบับ”

 

Without Justice, There can be no love

จริงๆ แล้วนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไทยเคยออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมเหตุการณ์ทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 23 ครั้ง 

ทว่า การนิรโทษกรรมที่ผ่านมากลับเป็นการนิรโทษกรรมที่ตอบสนองผู้มีอำนาจ อำนวยความสะดวกให้ผู้ก่ออาชญากรรมแห่งรัฐอย่างคณะรัฐประหารถึง 11 ครั้ง ดังที่เราจะเห็นว่าการนิรโทษกรรมแก่คณะรัฐประหารสองครั้งล่าสุด (รัฐประหาร 2549 และ 2557) ได้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น อีกเงื่อนไขสำคัญที่เราต้องแน่ใจเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมก็คือ การนิรโทษกรรมนั้นเกิดขึ้นด้วยหัวจิตหัวใจของการก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่ –และไม่ใกล้เคียง– กับการลืมความสูญเสียจากความขัดแย้ง เช่น การนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง หรือกระทำเกินกว่าเหตุ หรือเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้มีอำนาจเท่านั้น

ในรอบปีที่ผ่านมา ‘นิรโทษกรรม’ ยังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้ง 2566 ทั้งการที่มันถูกบรรจุอยู่ในนโยบายชุดแรกของพรรคก้าวไกล (พร้อมกับนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และอื่นๆ) หรือการที่มันกลายเป็นเนื้อหาส่วนที่ ‘หายไป’ ในเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลร่วม

ภายหลังเมื่อก้าวไกลจะจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ และพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลแทน เป็นที่รับรู้ร่วมกันว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวโร้มไม่แตะต้องมาตรา 112 และผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เพราะกฎหมายมาตรานี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล

ย้อนกลับไปในรัฐบาลชุดก่อน เราก็ยังเห็นการกล่าวถึงคดีทางการเมืองจากพรรคเพื่อไทยอยู่บ้าง เช่น ประกาศพรรคเพื่อไทยที่ลงนามโดย ชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ พรรค เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ที่เขียนเอาไว้ว่า

“การแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้นักโทษทางความคิดได้รับการปล่อยตัว และไม่ให้เกิดนักโทษทางความคิดเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย”

แม้เรื่องนิรโทษกรรมจะไม่ได้เงียบหาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องที่ผูกพันกับการนิรโทษกรรมอย่างแยกไม่ขาด คือประเด็นอันอ่อนไหวอย่างกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเป็นกฎหมายหนึ่งที่ประชาชนถูกดำเนินคดีหลังการรัฐประหาร 2557 ขณะเดียวกันประเด็นการ ‘แก้ไข’ กฎหมายดังกล่าวก็มักนำมาสู่ข้อถกเถียงเห็นต่าง เป็นชนวนเหตุที่ทำให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ผ่านการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี โดยคำอภิปรายของ สว. จำนวนมากกล่าวต่อต้านนโยบายการแก้ไขกฎหมายนี้

ยิ่งจากสถานการณ์ล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ซึ่งหาเสียงแก้มาตรา 112 และเสนอแก้มาตรา 112 เท่ากับการล้มล้างการปกครองฯ ก็ยิ่งสะท้อนความอ่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นนี้ และทำให้เกิดคำถามตามมาว่าการนิรโทษกรรมที่หลายคนตั้งตารอให้เกิดขึ้น จะหมายรวมไปถึงประชาชนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ในการเรียกร้องและแคมเปญ ‘นิรโทษกรรมประชาชน’ ของภาคประชาชน จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน มีเนื้อหาที่ระบุชัดเจนว่าการนิรโทษกรรมต้องรวมคดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา โดยจะมีการเดินหน้ารวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ 10,000 รายชื่อ รวมถึงดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ภายในวันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567 นี้

ยังไม่มีใครรู้ว่า การนิรโทษกรรมซึ่งจะเกิดขึ้นในยุคที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แต่เดือนนี้ เวลานี้ นิรโทษกรรมจะอยู่ในบทสนทนาของสังคม อย่างน้อยก็จากการเรียกร้องของภาคประชาชนที่เรากำลังจะได้เห็นในเดือนของความรัก

หรืออาจต้องเรียกว่าเดือนแห่งความรัก และความยุติธรรม

 

อ่านข้อมูลเปรียบเทียบ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 5 ฉบับ ของเพื่อไทย ก้าวไกล รวมไทยสร้างชาติ ครูไทยเพื่อประชาชน และภาคประชาชน ได้ใน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กับความแตกต่างเงื่อนไขการยกโทษ การยุติความขัดแย้ง 20 ปี จะจบหรือไม่? 

 

 

 

 

ขอบคุณแหล่งที่มา :  thairath

ความคิดเห็น

ข่าวใหม่

เตือนเกมอันตราย ล่าเหรียญ Jagat ระบาดในวัยโจ๋ ยกพลทำสวนน้ำพัทยาพัง
เตือนเกมอันตราย ล่าเหรียญ Jagat ระบาดในวัยโจ๋ ยกพลทำสวนน้ำพัทยาพัง
M
Admin
2025.01.23
ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานอื้อ กทม.แดงเถือก หนักสุดวิกฤติระดับสีม่วงที่นครปฐม
ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานอื้อ กทม.แดงเถือก หนักสุดวิกฤติระดับสีม่วงที่นครปฐม
M
Admin
2025.01.23
ราคาทองวันนี้ล่าสุด 23 ม.ค. 2568 ปรับเพิ่ม 50 บาท ราคาทองคำแท่ง บาทละ 44,200 บาท
ราคาทองวันนี้ล่าสุด 23 ม.ค. 2568 ปรับเพิ่ม 50 บาท ราคาทองคำแท่ง บาทละ 44,200 บาท
M
Admin
2025.01.23
อั้นไว้เติมพรุ่งนี้! ปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ 40 สต. ยกเว้น E85 ลง 50 สต./ลิตร
อั้นไว้เติมพรุ่งนี้! ปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ 40 สต. ยกเว้น E85 ลง 50 สต./ลิตร
M
Admin
2025.01.23
เช็กพาวเวอร์มหาเศรษฐีหนุน "โดนัลด์ ทรัมป์" เครือข่ายอำนาจโลก
เช็กพาวเวอร์มหาเศรษฐีหนุน "โดนัลด์ ทรัมป์" เครือข่ายอำนาจโลก
M
Admin
2025.01.22
เริ่มแล้ว เช็กสิทธิ์ รับเงิน 10,000 เฟส 2 อายุ 60 ปีขึ้นไป เริ่มโอนเงิน 27 ม.ค. 68
เริ่มแล้ว เช็กสิทธิ์ รับเงิน 10,000 เฟส 2 อายุ 60 ปีขึ้นไป เริ่มโอนเงิน 27 ม.ค. 68
M
Admin
2025.01.22
กล่อมต่อยอดลงทุน อิ๊งค์ถกยักษ์ใหญ่ระดับโลก ดีพีเวิลด์ลุยแลนด์บริดจ์ เนสท์เล่ปลูกกาแฟเพิ่ม
กล่อมต่อยอดลงทุน อิ๊งค์ถกยักษ์ใหญ่ระดับโลก ดีพีเวิลด์ลุยแลนด์บริดจ์ เนสท์เล่ปลูกกาแฟเพิ่ม
M
Admin
2025.01.22
แจ้ง 2 ข้อหาหนัก "คนขับเก๋ง" ไล่ชนไรเดอร์ดับ บช.น.สั่งกำชับดำเนินคดีถึงที่สุด
แจ้ง 2 ข้อหาหนัก "คนขับเก๋ง" ไล่ชนไรเดอร์ดับ บช.น.สั่งกำชับดำเนินคดีถึงที่สุด
M
Admin
2025.01.22
ทรัมป์ลงนามแล้ว เลื่อนแบน TikTok ไปอีก 75 วัน
ทรัมป์ลงนามแล้ว เลื่อนแบน TikTok ไปอีก 75 วัน
M
Admin
2025.01.21
รัฐบาลย้ำ 27 ม.ค.นี้ โอนเงินหมื่นเฟส 2 เตือน อย่าลืมผูกพร้อมเพย์-เช็กสิทธิ
รัฐบาลย้ำ 27 ม.ค.นี้ โอนเงินหมื่นเฟส 2 เตือน อย่าลืมผูกพร้อมเพย์-เช็กสิทธิ
M
Admin
2025.01.21
อ.ปานเทพ - บอสณวัฒน์ พามิสแกรนด์ 77 จังหวัดพบดีเอสไอ ขอรับ "คดีแตงโม" เป็นคดีพิเศษ
อ.ปานเทพ - บอสณวัฒน์ พามิสแกรนด์ 77 จังหวัดพบดีเอสไอ ขอรับ "คดีแตงโม" เป็นคดีพิเศษ
M
Admin
2025.01.21
ปูตินแสดงความยินดี "โดนัลด์ ทรัมป์" รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
ปูตินแสดงความยินดี "โดนัลด์ ทรัมป์" รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
M
Admin
2025.01.21
ดับแล้ว 2 ศพ นักท่องเที่ยวร่วมงานดนตรี EDC Thailand ช็อกหมดสติ เร่งหาสาเหตุ
ดับแล้ว 2 ศพ นักท่องเที่ยวร่วมงานดนตรี EDC Thailand ช็อกหมดสติ เร่งหาสาเหตุ
M
Admin
2025.01.20
สร้างความเชื่อมั่นผุด โรงพยาบาลดอนเมือง
สร้างความเชื่อมั่นผุด โรงพยาบาลดอนเมือง
M
Admin
2025.01.20
ค่าฝุ่นวันนี้ PM2.5 อัดแน่นทั่วกรุงฯ เกินมาตรฐาน 70 พื้นที่
ค่าฝุ่นวันนี้ PM2.5 อัดแน่นทั่วกรุงฯ เกินมาตรฐาน 70 พื้นที่
M
Admin
2025.01.20
เขียน
1 2 3 4 5