อินเดีย ฝันไกลไปถึงดวงอาทิตย์ เหตุผลมากกว่าธุรกิจอวกาศ มหาอำนาจยังต้องเกรงใจ
อินเดีย กลายเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศเบอร์ต้นๆ ของโลก หลังส่งยานไปสำรวจขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์สำเร็จเป็นชาติแรก และต้นปีที่ผ่านมา ส่งยานอวกาศ “อาทิตยา-แอล 1” (Aditya-L1) ทำภารกิจเฝ้าสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์อย่างใกล้ชิด ทำให้มหาอำนาจของโลก หันมาจับตามองถึงภารกิจต่อไปของอินเดีย ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงประเทศ ขณะที่ไทยขาดแคลนบุคลากรด้านอวกาศ และเทคโนโลยี กระทบต่อความมั่นคง หากชาติมหาอำนาจเกิดความขัดแย้ง
ภารกิจอวกาศเปลี่ยนโลกของอินเดีย ทำให้หลายชาติหันมามองมากขึ้น ตั้งแต่ปีที่แล้วส่งยานอวกาศ “จันทรายาน-3” ไปสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโลก ด้วยการลงจอดบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เป็นชาติแรก ต้นปีที่ผ่านมา ส่งยานสำรวจ “อาทิตยา-แอล 1” (Aditya-L1) ไปสำรวจดวงอาทิตย์ครั้งแรกของอินเดีย เพื่อศึกษาผลกระทบของลมพายุสุริยะ รวมถึงปรากฏการณ์ของดวงอาทิตย์ มีผลกระทบต่อโลก
ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ GISTDA ถึงความฝันที่ไกลกว่าอวกาศของอินเดียว่า ที่ผ่านมาอินเดียมีความเอาจริงเอาจังในการศึกษาด้านอวกาศมาก โดยสามารถส่งยานอวกาศไปดาวอังคารและดวงจันทร์มาแล้ว อินเดียมีการวางแผนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1960 จึงทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศต่อเนื่องกว่า 60 ปี
ที่สำคัญ องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organization-ISRO) ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี โดยมีนโยบายชัดเจนมาต่อเนื่อง เริ่มผลิตดาวเทียมเองครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1975 จากนั้นอีก 5 ปี สร้างจรวดนำส่งไปอวกาศขึ้นเอง อินเดียถือเป็นชาติที่ 7 ที่สร้างจรวดเองได้
การที่อินเดีย สร้างจรวดเองได้ เป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ด้านอวกาศของประเทศ ที่มีนัยถึงความมั่นคง และทำให้หลังจากนั้นอินเดียลงทุนด้านเทคโนโลยีและการศึกษาด้านอวกาศเพิ่มขึ้น แม้หลายคนมองว่าประชากรระดับล่างมีความยากจน แต่มีคนรุ่นใหม่ ที่เป็นโปรแกรมเมอร์ของอินเดีย ที่เก่งจนประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา มาจ้างให้ทำงาน ถือเป็นผลพวงที่เห็นได้ชัดเจน
เก็บข้อมูลพายุสุริยะ ช่วยเตือนผลกระทบที่เกิดขึ้นในโลก
ดร.สิทธิพร เล่าต่อว่า เป้าหมายด้านอวกาศของอินเดีย ไม่ต่างจากชาติมหาอำนาจประเทศอื่น ที่เริ่มจากส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ก่อน ขั้นที่สองไปดาวอังคาร ขั้นที่สามไปดาวศุกร์ ขั้นสุดท้ายคือไปดวงอาทิตย์ โดยเริ่มจากดวงดาวที่ใกล้กับโลกก่อน อย่างล่าสุด อินเดีย เป็นประเทศที่สี่ สามารมารถนำยานไปจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
ขณะเดียวกัน ล่าสุดส่ง “อาทิตยา-แอล 1” ไปสำรวจใกล้ดวงอาทิตย์ เป็นไม่กี่ชาติที่สามารถทำได้ เพราะดวงอาทิตย์มีความร้อน ทำให้หลายชาติที่พยายามส่งยานอวกาศเข้าไปใกล้มากที่สุด แต่ไม่สำเร็จ
อินเดีย สามารถส่ง “อาทิตยา-แอล 1” ไปโคจรใกล้ดวงอาทิตย์ได้ เป็นอีกก้าวสำคัญของวงการอวกาศโลก เพราะนอกจะต้องใช้วัสดุทนความร้อนสูง และระบบการควบคุมที่ทนต่อคลื่นแม่เหล็กที่มาจากดวงอาทิตย์ได้สูงแล้ว จะทำให้มีการเก็บข้อมูลเรื่องลมสุริยะ ที่มีผลต่อโลกได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดปรากฏการณ์ลมสุริยะ ที่มีผลต่อโลก จะไม่มีข้อมูลที่ส่งมาเตือนก่อนล่วงหน้าได้เพียงพอ
การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของอินเดีย ยังเป็นผลดีต่อความมั่นคง เพราะถ้าอนาคตเกิดความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ จนไม่ส่งข้อมูลด้านอวกาศให้กับชาติอื่น ส่งผลกระทบอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ประเทศมหาอำนาจ จะมีดาวเทียมจีพีเอสของตัวเอง ส่วนไทยยังใช้ดาวเทียมของชาติอื่นอยู่ ถ้าวันหนึ่งมหาอำนาจไม่ให้ใช้จีพีเอสดาวเทียม จะมีผลต่อระบบนำทาง และระบบอัตโนมัติหลายอย่างที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
อนาคตความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ มีผลต่อความมั่นคงในอวกาศ
เป้าหมายต่อไปของอินเดีย ดร.สิทธิพร มองว่า หลังประสบความสำเร็จในการส่ง “อาทิตยา-แอล 1” ไปโคจรใกล้ดวงอาทิตย์ เริ่มจะพัฒนายานอวกาศที่มีคนอยู่ภายใน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยทำได้สำเร็จ โดยเริ่มต้นจะนำนักบินอวกาศไปโคจรรอบโลกก่อน และมีแผนไปสำรวจดาวศุกร์ต่อในไม่อีกกี่สิบปีข้างหน้า
“เป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของอินเดีย ช่วงแรกเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ แต่ในช่วงหลังเริ่มมีประเด็นถึงความมั่นคง เพราะจีนที่เป็นประเทศใกล้กันก็มีเทคโนโลยีด้านอวกาศที่ล้ำสมัย ดังนั้น ทำให้อินเดียจำเป็นต้องเร่งขีดความสามารถ เพราะอาจเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดได้ในอนาคต”
สิ่งสำคัญที่ชาติมหาอำนาจเร่งศึกษาเทคโนโลยีอวกาศ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีขายในโลก และไม่มีการถ่ายทอดให้กับประเทศอื่นอย่างละเอียด เลยทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถด้านอวกาศของตัวเองมากขึ้น
สำหรับไทย มีโครงการความร่วมมือกับอินเดียมากขึ้น หรือการพัฒนาด้านการจัดการจราจรทางอวกาศของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพราะถ้ามัวไปใช้บริการดาวเทียมของประเทศอื่นที่ต้องจ่ายหลายล้านบาทต่อปี ยิ่งทำให้ต้องสูญเสียเงินไปอีกมหาศาล ขณะที่ระบบพยากรณ์อากาศของไทยยังไม่มี ตอนนี้ทางหน่วยงานได้ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย เพื่อเร่งพัฒนาระบบให้มีมาตรฐานมากขึ้น
ความรู้เรื่องอวกาศในไทย ตอนนี้ยังขาดสถาบันที่ส่งเสริมด้านการศึกษาอย่างจริงจัง ขณะที่บุคลากรด้านอวกาศ ยังต้องไปศึกษายังต่างประเทศ ดังนั้น ภาครัฐของไทยควรส่งเสริมในการสร้างบุคลากรด้านอวกาศก่อน ตัวอย่างเช่น อินเดีย หลังส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ได้ ก็มีคนรุ่นใหม่ที่ตั้งบริษัทของตัวเองที่เกี่ยวกับธุรกิจอวกาศ ในอินเดียมากขึ้นตามไปด้วย นี่จึงไม่ใช่ความฝันอีกต่อไปของอินเดีย.
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น