จับกระแสการเมือง 22 มิ.ย.2566 : ไม่มีเหตุผลสำหรับประธานสภาฯ จะไม่ใช่คน “พรรคก้าวไกล”
แม้แกนนำจากทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย จะอ้างว่าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ยุติ เตรียมจะคุยและเคาะสรุปพร้อมโควตากระทรวง ในการหารือร่วมกันครั้งหน้า
แต่ฟังจากในทางปฏิบัติ น่าชัดเจนแล้วว่า พรรคก้าวไกลจะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ส่วนพรรคเพื่อไทยจะได้รองประธานฯ
แม้ว่าเพื่อไทยจะอ้างเป็นเพียงหลักการที่เสนอไป แต่ถือว่าเข้าทางพรรคก้าวไกลพอดี ดังที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และสวมบทเป็นผู้จัดการรัฐบาลขณะนี้ กล่าวขอบคุณพรรคเพื่อไทยที่ยอมถอยให้
นี่เป็นจุดยืนที่แน่วแน่ตั้งแต่ต้น ไม่คายเก้าอี้ตัวนี้ให้พรรคเพื่อไทย เหตุผลสำคัญที่สุดคือไม่ไว้ใจใคร ทางเดียวที่จะรับประกันว่า นายพิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องพะวงระหว่างทาง คือต้องมีประธานสภาฯ เป็นคนของพรรคก้าวไกลเท่านั้น
เมื่อตำแหน่งประธานสภาฯ ตกเป็นของพรรคก้าวไกล ประเด็นร้อนถัดมาที่จะถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ คือตัวบุคคลที่จะนั่งเป็นใคร ในเมื่อพรรคก้าวไกล เพิ่งผ่านสนามเลือกตั้ง ส.ส.มาเพียงแค่ 2 ครั้ง และยังเป็นพรรคการเมืองที่เน้นคนรุ่นใหม่และคนหน้าใหม่ ไม่มีนโยบายดึง ส.ส.หรืออดีต ส.ส.จากพรรคอื่นมาร่วมงานด้วย เท่ากับยังด้อยพรรษา จะเป็นที่ยอมรับของพรรคการเมืองอื่นได้อย่างไร
ตำแหน่งนี้เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เป็น 1 ในอำนาจอธิปไตย ในครรลองประชาธิปไตย แต่ไหนแต่ไรมา คนจะนั่งในตำแหน่งนี้ ต้องมีประสบการณ์ เป็น ส.ส.มาหลายสมัย เป็นที่เกรงขามและได้รับการยอมรับจากสมาชิกทั่วไป
ยิ่งมีคนเปรียบเทียบอย่างนายชวน หลีกภัย นายวันมูหะหมัด นอร์ มะทา หรือแม้แต่นายชัย ชิดชอบ ที่สามารถคุมเกมในสภาได้อยู่หมัด คนของพรรคก้าวไกลที่จะมานั่งในตำแหน่งประธาน จึงหลีกเลี่ยงการวิพากษ์ไม่ได้ ถึงขั้นอาจโดนด้อยค่าด้วยซ้ำไป
บุคคลที่มีการพูดถึงทั้งวงในพรรคก้าวไกลและบนหน้าสื่อ ไม่ว่าจะเป็นนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.กทม. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือแม้แต่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ก็ยังถูกมองว่าเป็นคนหน้าใหม่ กระดูกยังไม่แข็งพอ
แม้ความรู้ด้านกฎหมายจะไม่เป็นปัญหา เพราะนายธีรัจชัย จบปริญญาตรี และ ปริญญาโท นิติศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย เป็นมือกฎหมายที่เชี่ยวชาญการเมืองคนหนึ่ง ขณะที่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม จบปริญญาตรีและปริญญาโทกฎหมายเช่นกัน และเคยเป็นหัวหน้างานกฎหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
บทบาทในสภาในช่วงที่ผ่านมา อาจไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของคนเป็นประธานสภาฯ ในอุดมคติของคนการเมืองรุ่นเก๋า ที่จะมีสเปคครบครัน ทั้งบุคลิกผู้นำ ความน่าเชื่อถือ ประนีประนอม เป็นกลาง มีวุฒิภาวะ และอีกมากมาย
กรณีนายธีรัจชัย ภาพจำคือเป็นเจ้าของลีลาอภิปรายแบบดุเด็ดพอประมาณ มีเหน็บมีโต้ฝ่ายตรงข้ามในที ไม่ว่าจะการอภิปรายเรื่องแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือเรื่อง ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ขณะนั้น กระทั่งเป็นที่มาของคำชี้แจงที่ว่า มันคือแป้ง จึงยิ่งอาจมองหาบุคลิกการประนีประนอมไม่เจอ
แต่ทั้งหมดถือเป็นเรื่องคาดการณ์ หรืออิงอยู่กับภาพจำเดิม ๆ ทั้งคนที่เคยเป็นประธานสภาฯ และคนที่จะเข้ามาเป็น เพราะถึงอย่างไร คนที่เคยเป็นประธานสภาฯ หลายคน สามารถพิสูจน์ประสิทธิภาพการทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
มิหนำซ้ำบางคนยังสร้างชื่อและภาพจำ จากการทำหน้าที่นี้อีกด้วย เช่น นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่นำชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี นำไปสู่ข่าวการแต่งชุดขาวรอเก้อของ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย ช่วงเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ถือเป็นการถอดสลักกระแสการต่อต้าน รสช.และการสืบทอดอำนาจของคณะผู้ก่อการ จนได้รับการยกย่องถึงทุกวันนี้
หรือแม้แต่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตส.ส.ขอนแก่น หลายสมัย เมื่อครั้งเป็นรองประธานสภาผู้แทนฯ สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ พรรคความหวังใหม่ แม้จะเป็นแค่รองประธานฯ แต่กลับได้รับการยอมรับจาก ส.ส.ว่า มีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กระทั่งได้รับฉายา “ขุนค้อน” แต่ต่อมา เมื่อได้เป็นประธานสภาฯ สมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ปี 2554 กลับโดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องทำหน้าที่เอนเอียงชัดเจน จนไม่เหลือเค้าขุนค้อนในอดีต
จึงเป็นเรื่องที่ต้องเปิดใจกว้าง ให้โอกาสกับคนจากพรรคก้าวไกลที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ส่วนใหญ่ ได้แสดงออกถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศแล้ว และไม่แน่ว่า คนคนนั้น อาจทำหน้าที่ประธานสภาฯ อีกคนหนึ่ง ที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่จดจดอีกนานของผู้คนก็เป็นได้
ขอขอบคุณ แหล่งที่มา : thaipbs.or.th/news/content/329018
ความคิดเห็น