70 ปีข้างหน้า คนไทยจะเหลือ 32 ล้าน เมื่ออัตราการเกิดลด อาจถึงเวลาต้อง ‘เติมประชากรทดแทน’
ปลายเดือนตุลาคม 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร ส่งผลให้บุคคล 483,626 คน กำลังจะได้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ถาวร หรือสัญชาติไทยรวดเร็วมากขึ้น
แต่ประเด็นนี้ก็ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเป็นกังวล โดยเฉพาะกลุ่มชาตินิยม เพราะเห็นว่ารัฐไทยต้องจ่ายให้กับบุคคลที่ ‘ไม่ใช่คนไทย’ เช่น สิทธิการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการ สิทธิทางการเมือง อาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
หากมองในภาพรวม นี่เป็นก้าวย่างสำคัญของไทยในการหาประชากรเพิ่มเติม เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบทำให้อนาคตของไทยน่ากังวลยิ่งกว่า นั่นคือการเข้าสู่สังคมสูงวัยสุดยอด คนไทยจะล้มหายตายจากเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วในไม่กี่ปี ขณะที่อัตราการเกิดลดลง จนสุดท้ายคนไทยอาจเหลือจำนวนไม่ถึงครึ่งของทุกวันนี้
ไทยใกล้วันขาดแคลนประชากร
ต้นปี 2567 คือปีที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 13 ล้านคน ของประชากรทั้งประเทศ และภายในปี 2573 ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยสุดยอด (Super Aged Society) คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า28 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
ไม่ใช่แค่นั้น บวกกับจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงด้วยหลายๆ เหตุผล ระเบิดเวลาประชากรเดินถอยหลังอย่างเงียบเชียบ ผลอันตรายในท้ายที่สุดอาจเกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว คือ อีกไม่นานประชากรไทยอาจลดลงเหลือครึ่งหนึ่งจากที่มีอยู่ทุกวันนี้
ในการประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 18 หัวข้อเรื่อง ‘ประชากรและความยั่งยืน: ประเด็นสำคัญทางนโยบาย’ ศ.กิตติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำงานในประเด็นการวางแผนประชากรมากว่า 30 ปี ได้นำเสนองานวิชาการในหัวข้อเรื่อง ‘นโยบายการทดแทนประชากร ตามบทพลิกกลับของทฤษฎีแห่งการตอบโต้หลายทาง ของ คิงสลีย์ เดวิส’
ศ.กิตติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์
จุดเด่นของงานวิชาการชิ้นนี้พูดถึงความกังวลข้างต้น คือฉายภาพประชากรไทยเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 ว่าจะเหลือเพียง 32 ล้านคน จึงมีความจำเป็นต้อง ‘ทดแทนประชากร’ ลำพังการเร่งออกนโยบายการเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ เช่น สนับสนุนให้คนไทยมีลูก อาจต้องใช้เวลา ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้ใช้การย้ายถิ่นควบคู่ไปด้วย โดยต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันโอกาสการสูญสลายของคนไทย และป้องกันการเกิดความแตกแยกที่เกิดจากสังคมพหุวัฒนธรรมที่ไม่สมดุล
อภิชาติเสนอว่า จะต้องมีการส่งเสริมให้สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเอื้อกับการมีบุตรจนถึงระดับทดแทน และการนำเข้าพลเมืองปีละ 200,000 คน เมื่อใช้มาตรการทั้งสองอย่างนี้ร่วมกันจึงจะทำให้ประชากรอยู่ได้อย่างมั่นคงที่ 62 ล้านคน
การลดลงของประชากรเป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้จากข้อมูลภาวะเจริญพันธุ์ล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข โดย อัตราการเจริญพันธุ์รวม หรือ Total Fertility Rate (TFR) มีค่าเท่ากับ 1.08 นั่นหมายความว่า ณ วันนี้ผู้หญิงหนึ่งคนจะให้กำเนิดบุตร 1.08 คน ซึ่งการทดแทนประชากรนั้นค่า TFR ต้องอยู่ที่ 2.1
ประเทศไทยกำลังสูญเสียประชากรกว่า 34 เปอร์เซ็นต์เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นอัตรามากที่สุดในโลกรองจากสถิติ 41 เปอร์เซ็นต์ของญี่ปุ่น ส่วนประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาหรือแคนาดากำหนดเป้าหมายการนำเข้าประชากรที่ 1 ล้านคน และ 480,000 คนตามลำดับ ประเทศไทยควรวางแผนรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
ในฐานะนักวิชาการผู้ทำงานด้านวางแผนประชากร อภิชาติกล่าวว่า ยังไม่สายเกินไปที่รัฐไทยจะกลับมาให้ความสำคัญกับการ ‘ทดแทน’ คนไทยที่กำลังลดจำนวนลงอย่างน่ากังวล
สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับประชากรไทยเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21
“ถ้าประเทศไทยไม่ทำอะไรเลย และเราดึงอัตราการเกิดกลับมาไม่ได้ คนก็จะเหลือ 33 ล้านคน เกิดการสูญสลาย แต่มันไม่ได้หายไปไหนหรอก กลายเป็นว่าถ้าเราไม่วางแผนรับคนเข้ามา คนจะทะลักเข้ามาแบบควบคุมไม่ได้ เพราะความต้องการแรงงานแอบแฝงอยู่”
อภิชาตินำเสนอสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับประชากรไทยในปี 2643 (ค.ศ. 2100) ไว้ 4 ทางเลือกดังนี้
1. ถ้าค่าอัตราการเจริญพันธุ์ TFR = 1.08 คงที่ตลอดไปจนถึงปี 2100 และไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านการย้ายถิ่นฐาน ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 32 ล้านคน
2. หากค่า TFR = 1.08 คงที่ตลอดไปจนปี 2100 และรัฐคัดสรรให้มีการย้ายถิ่นคนเข้ามาปีละ 200,000 คน ผลคือประชากรจะเท่ากับ 45 ล้านคน
3. รัฐส่งเสริมสภาวะทางเศรษฐกิจสังคมให้เอื้อต่อการเกิด ทำให้ TFR เพิ่มขึ้นจนถึงระดับทดแทนที่ 2.1 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านการย้ายถิ่น ผลคือประชากรในปี 2100 จะเท่ากับ 42 ล้านคน
4. ส่งเสริมให้ TFR กลับมาอยู่ที่ 2.1 และมีการคัดสรรให้มีการย้ายถิ่นคนเข้ามาปีละ 200,000 ร่วมด้วย ซึ่งผลลัพธ์จะทำให้มีประชากรเท่ากับ 62 ล้านคน
อภิชาติกล่าวพร้อมบอกว่า นโยบายเรื่องของการนำเข้าประชากรเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเริ่มทำ เพราะ ณ ขณะนี้ประเทศอื่นๆ เริ่มดำเนินการที่จะดึงเอาคนที่มีศักยภาพเข้าไปเป็นประชากรของตนเองแล้ว
การจัดตั้งกระทรวงคนเข้าเมือง พลเมือง และประชากร
ในวารสารประชากรและการพัฒนา ฉบับสิงหาคม - กันยายน 2567 อภิชาติเขียนบทความในหัวข้อ ‘การจัดตั้งหน่วยงานระดับกระทรวงเพื่อดูแล Massive Immigration Policy: ต้นแบบจากประเทศแคนาดา’ จากบทความดังกล่าว อภิชาติอธิบายเพิ่มเติมว่า ในประเทศแคนาดามีหน่วยงานที่ชื่อว่า Immigration, Refugees and Citizenship Canada (IRCC) มีเจ้าหน้าที่ 7,000 คน มีระบบการให้คะแนนและคัดเลือกผู้สมัคร รวมทั้งมีระบบ The Provincial Nominee Program (PNP) ที่ให้ระดับท้องถิ่นเป็นคนกำหนดว่าอยากได้คนในลักษณะไหนเข้ามาเป็นประชากร
“เราจำเป็นต้องสร้างประเทศอีกครึ่งชาติ ในอีก 70 ปีคนไทยจะหายไป 30 ล้านคน เราจะต้องสร้าง 30 ล้านคนนี้ขึ้นมาใหม่ มันสมควรที่จะต้องมีหนึ่งกระทรวง เพราะประเทศต่างๆ เขาก็มีกัน อย่างน้อยคนที่ดูแลเรื่องนี้จะต้องเป็นระดับรัฐมนตรี”
อภิชาติตอบคำถามถึงเรื่องความจำเป็นของการจัดตั้งกระทรวงคนเข้าเมือง พลเมือง และประชากร โดยประเทศไทยสามารถออกแบบระบบที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของสังคมไทย เช่น การศึกษา การงานอาชีพ ประวัติการทำงาน ทักษะภาษาไทย ความรู้เรื่องวัฒนธรรมไทย ประวัติศาสตร์ไทย ความรักชาติไทย และด้านครอบครัวที่มีความยึดโยงกับประเทศไทย
กระทรวงที่น่าจะต้องตั้งขึ้นมาในอนาคต อภิชาติอธิบายว่า จะมีหน้าที่อย่างน้อย ดังนี้
1. การตั้งเป้าจำนวนและคุณสมบัติของพลเมืองที่ต้องการ เช่น กลุ่มแรงงานทักษะสูง กลุ่มนักลงทุน กลุ่มนักวิจัย กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มผู้นำทางจิตวิญญาณและสังคม
2. การพิจารณาและตัดสินคำขอ ต้องมีความรวดเร็วและชัดเจนโปร่งใส รวมทั้งให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพิจารณา
3. การช่วยเหลือด้านการตั้งถิ่นฐานและการบูรณาการทางสังคม เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมภาษาและวัฒนธรรมไทย การจัดหางาน และโปรแกรมปรับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมให้กับผู้พำนักถาวรคนใหม่
4. การตลาดที่จะเผยแพร่จุดแข็งของประเทศไทย เพื่อดึงดูดกลุ่มประชากรให้อยากย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในประเทศไทย
5. การปฏิบัติตามกฎหมายและการบังคับใช้ ซึ่งต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและหน่วยงานความมั่นคง
6. การประเมินผล
“ต้องสื่อสารให้สังคมไทยเข้าใจว่าการรับคนเข้ามามันอาจเกิดการแย่งงานกันในระยะสั้น แต่ระยะยาวมันคือการสร้างงาน รวมทั้งการทำงานของฝ่ายความมั่นคงก็ต้องทำแบบเจาะลึก งานด้านความมั่นคงไม่ได้หายไป แต่ยิ่งจะเข้มข้นขึ้น”
ในวันที่ประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มต้นนโยบายเรื่องการนำเข้าประชากรอย่างจริงจังนั้น ในอีกมุมหนึ่งก็เปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้ถอดบทเรียนจากประเทศอื่น ที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ประสบกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนท้องถิ่นกับกลุ่มผู้อพยพ โดยในบริบทของสังคมไทย อภิชาติให้ความเห็นว่า เราสามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความยึดโยงกับสังคมไทยเป็นที่ตั้ง โดยไม่ได้เอาปัจจัยเรื่องของความยากจนหรือความรวยมาตัดสินเพียงอย่างเดียว
ลบอคติของสังคมไทยที่มีต่อการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน
“การย้ายถิ่นไม่ใช่เรื่องลบเสียทีเดียว มันมีแง่บวกที่มีข้อมูลระบุว่าการย้ายถิ่นส่งผลบวกทั้งกับผู้ย้ายถิ่นใหม่และผู้อยู่อาศัยในถิ่นเดิม”
เป็นความท้าทายที่อภิชาติยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สังคมยอมรับเรื่องการทดแทนประชากรโดยการนำเข้าประชากร แต่เขามองว่าการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญจึงอยู่ที่ประเทศไทยจะทำอย่างไรให้คนที่เข้ามาแล้วเกิดความเท่าเทียม และไม่สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
ข้อมูลจากรัฐบาลแคนาดาระบุว่า ประโยชน์ของการย้ายถิ่นฐานในแคนาดา ผู้ย้ายถิ่นฐานมีส่วนสนับสนุนที่สำคัญในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจของแคนาดา ผู้ย้ายถิ่นฐานที่มีอายุระหว่าง 25-54 ปี เป็นตัวแทนมากกว่า 36 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำงานด้านที่พักและบริการด้านอาหาร 38 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ทำงานในภาคการขนส่งและการจัดเก็บสินค้า 34 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ทำงานด้านบริการระดับมืออาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคนิค และเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำงานด้านการก่อสร้าง
“ถ้าเราได้เลือกคนและวางแผนที่ดี มันจะส่งผลบวกกับสังคมไทย เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระหว่างที่ประชากรไทยลดลง ประชากรโลกยังคงเพิ่มอยู่ไปจนถึง 9,000-10,000 ล้านคน จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงมา และจะเกิดการทะลักเข้ามาของประชากร”
อีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่อภิชาติมองว่ามีความเชื่อมโยงกับสังคมไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คือกลุ่มผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เช่น กลุ่มคนไร้สัญชาติ ผู้ลี้ภัย และบุตรแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กไร้สัญชาติที่อยู่ในระบบการศึกษาไทย พวกเขามีความเพียบพร้อมที่จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ
อภิชาติกล่าวว่า การลงทุนกับการศึกษาให้กับเยาวชนคือกำไรของทุกฝ่าย นอกจากนี้การปล่อยให้เด็กกลุ่มนี้กลายเป็นคนไร้สัญชาติ จะก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมไทยมากกว่าผลดี กลับกัน การให้สัญชาติไทยแก่พวกเขายังช่วยดึงความสำนึกรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประวัติศาสตร์ไทย
“ถึงไม่ให้สัญชาติไทยแก่พวกเขา เราก็ต้องดูแลพวกเขาอยู่ดีตามหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก”
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ อภิชาติสรุปสาระสำคัญที่ประเทศไทยต้องมีการวางแผน และดำเนินนโยบายเรื่องการย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากรที่ลดลงไปอย่างจริงจัง เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นภายใต้กรอบนโยบายใหม่ที่ควรเริ่มทำตั้งแต่เนิ่นๆ ในวันและเวลาที่การแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์ยังไม่รุนแรงมาก และประชากรไทยยังไม่ลดลงมากจนบูรณาการทางสังคมเป็นเรื่องยาก รวมทั้งสังคมไทยต้องก้าวข้ามอุปสรรคในเรื่องความเกลียดกลัวต่างชาติ เพราะการลดลงของประชากรเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น