'ชัชชาติ' จ่อเช็ก โชว์รูมรถไฟฟ้า-การเก็บแบตเตอรี่ ทั่ว กทม. หลังเกิดเพลิงไหม้
‘ชัชชาติ’ จ่อเช็ก โชว์รูมรถไฟฟ้า-การเก็บแบตเตอรี่ ทั่ว กทม. หลังเกิดเพลิงไหม้โกดังในซอยวิภาวดีรังสิต 22 กำชับจนท.เตรียมพร้อมเผชิญเหตุต่างจากเพลิงไหม้ทั่วไป
วันที่ 7 ก.ย. 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงเหตุเพลิงไหม้โกดังภายในซอยวิภาวดีรังสิต 22 เมื่อคืนที่ผ่านมา ว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าเหตุเพลิงไหม้พวกแบตเตอรี่ต่างๆ การดับเพลิงจะไม่เหมือนรูปแบบปกติ และในอนาคตจะมีการใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น
หลังจากนี้ กทม.จะมีการเตรียมในเรื่องของประสิทธิภาพในการดับเพลิงประเภทดังกล่าว และการให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งเจ้าหน้าที่ของ กทม. และที่เป็นอาสาสมัคร เพื่อให้สามารถเข้าเผชิญเหตุได้ถูกต้อง และเข้าใจกระบวนการจัดเก็บแบตเตอรี่ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัวรับมือให้พร้อม
- เร่งคุมเพลิง ไฟไหม้โกดังเก็บแบตเตอรี่ ซอยวิภาวดี 22 ลุกลามอาคารข้างเคียง
- ยังเฝ้าระวังหวั่นปะทุอีก ไฟไหม้โกดัง ข้างโชว์รูมรถหรู ย่านวิภาวดี จนท.เจ็บ2
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้สั่งการให้ ผอ.เขตจตุจักร ไปดูเรื่องการเก็บแบตเตอรี่ว่าถูกต้องตามการใช้งานอาคารหรือไม่ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ในการจัดเก็บวัตถุอันตราย หรือไม่ หรือเป็นไปตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ รวมถึงจะต้องขยายผลไปในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการจัดเก็บแบตเตอรี่และจำหน่ายรถไฟฟ้าด้วย
ด้านนายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า อาคารดังกล่าวเป็นอาคารคอนกรีต 4 ชั้น ประกอบกิจการโกดังเก็บสินค้า ด้านหน้าเป็นลักษณะโชว์รูมขายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 4 เก็บจักรยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งประกอบด้วยสารลิเทียมไอออนที่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ส่วนชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เก็บอาหารเสริม
นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า สันนิษฐานเบื้องต้นสาเหตุเพลิงไหม้เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรที่แบตเตอรี่ของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยต้นเพลิงเกิดขึ้นชั้นที่ 1 เพลิงลุกไหม้ทั้งหมดและลุกลามบ้านข้างเคียงเสียหาย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า สำหรับสารลิเทียมไอออนจะเหมือนกับถ่านไฟฉายจำนวนมากซึ่งมีการเชื่อมต่อระบบไว้ การใช้น้ำในการควบคุมเพลิงไหม้จะทำให้อุณภูมิลดลง แต่เมื่อหยุดใช้น้ำ กระแสไฟฟ้ายังคงทำงานอยู่ ก็จะเกิดความร้อนขึ้นมาอีก และจุดติดขึ้นมาใหม่ ประกอบกับสภาพทางกายภาพของพื้นที่มีความลึกประมาณ 50 เมตร มีทางเข้าทางเดียวคือด้านหน้า
นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า ขณะที่พื้นของอาคารเป็นพื้นไม้และมีปล่องลิฟต์ ส่งผลให้ไฟและความร้อนลุกลามไปทุกชั้น เจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติงานจะต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นอย่างมากเนื่องจากพื้นอาจจะถล่มลงมาได้ จึงทำให้การดับเพลิงเป็นไปได้ยากมากขึ้น
นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสำนักป้องกันและบรรเทาสารธารณภัยมีการจัดอบรมทบทวนการเผชิญเหตุ รวมถึงมีการให้ความรู้เกี่ยวกับไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในบ้านเรือนและเรื่องของรถไฟฟ้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยมากที่สุด
ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7855157
ความคิดเห็น