เปิดแผน "อุดรูรั่วกระเป๋าเงิน" สร้างขวัญกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ปลดหนี้-ปลุกวินัยการออม
“...เป้าหมายสูงสุดคือ บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขมีความสุขกับการทำงาน ความสุขนั้นจะคืนกลับสู่ประชาชนโดยเฉพาะผู้มารับบริการในสถานบริการต่างๆ ผมเชื่อว่าถ้าพวกเราคนทำงานมีความสุข ผู้รับบริการจะได้รับความสุขไปด้วย ...”
คำประกาศตอนหนึ่งของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในพิธีเปิด แผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน หรือ Money Safety MOPH+ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและธนาคารออมสิน ที่มี นายวุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นตัวแทน พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขพญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยาน
“ทีมข่าวสาธารณสุข” ขอสรุปสถานการณ์ปัญหาหนี้สินของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ข้อมูลจากระบบการประเมินความสุขบุคลากร กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบว่า บุคลากรมีจิตวิญญาณดี ร้อยละ 71.2 น้ำใจดี ร้อยละ 70.8 ครอบครัวดี ร้อยละ 66.2 สุขภาพกายดี ร้อยละ 64.5 การงานดี ร้อยละ 64.4 สังคมดี ร้อยละ 64.2 ใฝ่รู้ดี ร้อยละ 63.9 ผ่อนคลายดี ร้อยละ 57.2 สุขภาพเงินดี ร้อยละ 53.0 ส่วนภาระหนี้สิน ที่มีการสำรวจเมื่อปี 2564 จำนวน 77,677 คน พบว่า ร้อยละ 80 มีหนี้สินครัวเรือน แยกเป็น หนี้สหกรณ์ ร้อยละ 49 หนี้บ้าน ร้อยละ 29 รถ ร้อยละ 11 การศึกษา ร้อยละ 1 อื่นๆ ร้อยละ 8 ขณะที่ ร้อยละ 41 มีรายได้เพียงพอรายจ่ายแต่ไม่เหลือเก็บ ร้อยละ 34 รายจ่ายมากกว่ารายได้ และร้อยละ 24 มีเงินออมสม่ำเสมอ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
“แผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) ประกอบด้วย 2 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1.โครงการความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย (Money Safety Home) ทั้งการรีไฟแนนซ์ ซื้อบ้านหลังใหม่ การปลูกสร้าง และต่อเติมซ่อมแซม โดยพบว่า บุคลากรสาธารณสุข ร้อยละ 15 เป็นหนี้บ้านประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อคน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.6 เฉลี่ย 9,583 บาทต่อเดือน โดยหากบุคลากรเข้าสู่แผนนี้ จะลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 2.6 ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายรายบุคคลได้ 4,167 บาทต่อเดือน และ 2.โครงการสินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ (Money Safety Redeeming) แบ่งเป็น สินเชื่อสวัสดิการ : อุปโภคบริโภค/ชำระหนี้ สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น, สินเชื่อ Salary เปย์ เพื่อบุคลากรภาครัฐ, สินเชื่อสวัสดิการ : โดยใช้บำเหน็จตกทอดและสินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ โดยพบว่า มีบุคลากรร้อยละ 40 เป็นหนี้นอกระบบ เฉลี่ย 200,000 บาทต่อคน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16 หรือเฉลี่ย 2,666 บาทต่อเดือน โดยดอกเบี้ยสำหรับโครงการนี้อยู่ที่ ร้อยละ 6.459 ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย 1,584 บาทต่อคนต่อเดือน หรือเฉลี่ยรายบุคคลจะมีเงินเหลือเก็บเดือนละ 5,751 บาท ขณะที่โครงการสินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ ซึ่งเป็นโครงการช่วยผ่อนภาระหนี้นอกระบบ จะได้วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 200,000 บาท ดอกเบี้ย ร้อยละ 0.70-0.75 ต่อเดือน ระยะเวลาผ่อนคืนสูงสุดไม่เกิน 8 ปี” นพ.ชลน่าน ระบุถึงรายละเอียดของแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน หรือ Money Safety MOPH+ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินโดยร่วมมือกับธนาคารออมสิน
รมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า กระทรวงได้จัดตั้งคลินิกส่งเสริมสุขภาพทางการเงินในทุกหน่วยงานสังกัดหรือทุกโรงพยาบาล โดยมีบุคลากรในหน่วยงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินช่วยประเมินเรื่องของการชำระหนี้และวางแผนทางการเงิน เพื่อไม่ให้เกิดการเป็นหนี้เพิ่มเติม โดยให้บริการทุกโรงพยาบาล ทุกวันพุธ เป็นเวลา 3 เดือน รวมทั้งส่วนกลางที่สำนัก งานปลัดกระทรวงสาธารณสุขด้วย
ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้การช่วยเหลือบุคลากรแก้ปัญหาหนี้สิน เป็น 1 ใน 13 นโยบายเร่งรัดแผนปฏิบัติการ หรือ Quick Win ที่เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 100 วัน ส่วนความมั่นคงทางการเงินระดับองค์กรหรือของโรงพยาบาลนั้น เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงพิเศษที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำรายได้ส่งคืนคลัง ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ซึ่งรายได้ต่อปีหรือเงินบำรุงของโรงพยาบาลต่อปีของเรามีพอประมาณที่จะดูแลหรือทำงานอื่นๆได้ ที่สำคัญถ้าเม็ดเงินก้อนนี้ไปอยู่ที่ธนาคารออมสิน ซึ่งมีภารกิจหลักเรื่องการส่งเสริมการออมก็จะเป็นการออมที่ยิ่งใหญ่ในรอบปีของหน่วยงานของเรา จึงได้ฝาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า หากสถานบริการของเรามีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยน โยกย้าย นำเงินบำรุงไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน ก็จะเป็นการออมเงินของหน่วยงาน
ด้าน นายวุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินได้จัดสรรอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อเป็นสวัสดิการทางการเงิน และร่วมจัดทำคลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน เพื่อพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพทางการเงิน และเพิ่มวินัยทางการเงินให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งนอกจากคลินิกสุขภาพทางการเงินที่จะเข้าไปให้คำแนะนำในโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศแล้ว ยังสามารถเข้าไปรับคำปรึกษาทางการเงินกับเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินทุกสาขาได้อีกทางหนึ่ง
“สำหรับคำแนะนำเบื้องต้นในการสร้างวินัยทางการเงิน ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้ได้กับทุกคนคือ เมื่อมีรายได้เข้ามาจะต้องแบ่งส่วนหนึ่งมาเพื่อการออมก่อนทุกครั้ง แล้วจึงนำเงินที่เหลือไปจัดสรรค่าใช้จ่ายด้านอุปโภค บริโภค หนี้สิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็น ส่วนการปลดหนี้นั้น ให้ชำระหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสูงก่อน เพื่อลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยให้ลดลง ที่สำคัญผู้ที่จะเข้าร่วมคลินิกสุขภาพทางการเงินจะต้องมีความตั้งใจจริง มุ่งมั่นสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น” นายวุฒิพงษ์ กล่าวถึงการสร้างวินัยทางการเงิน
วุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์
“ทีมข่าวสาธารณสุข” มองว่าปัญหาหนี้สิน แม้จะเป็นเรื่องส่วนบุคคลแต่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานได้ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีรายได้แบบชักหน้าไม่ถึงหลัง ในแต่ละวันจิตใจคงจดจ่อคิดแต่จะหาทางเพิ่มรายได้มาจ่ายหนี้สินและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สภาพเช่นนี้คงไม่สามารถทำงานแบบเต็มร้อยแน่นอน และนั่นย่อมหมายถึงประสิทธิภาพและผลงานขององค์กรก็จะลดน้อยถดถอยลงไปเช่นกัน
แต่สิ่งที่เราห่วงและขอฝากไว้คือ นอกจากการเข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินด้วยเม็ดเงินแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการคือ การทำให้บุคลากรมีวินัยทางการเงิน รู้จักการใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่า และใส่ใจการออม
เพราะหากแต่ละคนไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปลดหนี้ ในที่สุดก็จะกลับไปสู่วังวนเดิมของการเป็นหนี้สินอีกนั่นเอง.
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น