เมื่อพ่อแม่ล้ำเส้น ชีวิตคู่ลูกจึงพัง ว่าด้วยบทบาทพ่อแม่ในชีวิตแต่งงานลูก
Summary
- ปัญหาการล้ำเส้นในความสัมพันธ์ลูก จัดเป็นปัญหาคลาสสิกที่คงไม่ได้มีเพียงแต่ในประเทศไทย เพราะหากพูดถึงความรู้สึกของคนเป็นพ่อแม่แล้ว ทั่วทั้งโลกก็คงไม่ต่างกันเท่าใดนัก
- แต่ในครอบครัวแถบเอเชียที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อแม่อยู่ร่วมบ้านกับลูกที่แต่งงานแล้ว ทำให้เส้นแบ่งระหว่างความเป็นพ่อแม่และความเป็นส่วนตัวของชีวิตคู่ดูเลือนลาง ผนวกกับความรู้สึกของการเป็นพ่อแม่ที่เชื่อว่าตนเอง ‘มีสิทธิ’ ทำให้บางครั้งความหวังดี ก็อาจเป็นการล้ำเส้นได้ง่ายๆ
- แม้เราไม่อาจเปลี่ยนคำสอนหรือวิธีที่พ่อแม่แสดงความรักต่อเราได้ แต่การรู้เท่าทันว่าสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อชีวิตรักและความคาดหวังต่อคู่ชีวิต ก็จะช่วยให้คนเราเลือกแสดงออกในความสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อประคับประคองชีวิตรักให้ยั่งยืนได้
Illustration: Nuttal-Thanatpohn Dejkunchorn
ไม่ว่าคนเราจะเปลี่ยนสถานะกี่หน เติบโตมากเท่าไร สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนได้ก็คือสายสัมพันธ์กับคนในครอบครัว โดยเฉพาะกับพ่อแม่ สำหรับบางคนแม้แต่งงานสร้างครอบครัวไปแล้ว พ่อแม่ก็ยังมีอิทธิพลในชีวิตอย่างมาก หากมองว่าความสัมพันธ์นี้ว่าแน่นแฟ้น ก็คงได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า การที่พ่อแม่ยังมีอิทธิพลต่อชีวิตของลูกวัยผู้ใหญ่ที่แต่งงานแล้วนั้น ส่งผลดีหรือกำลังบั่นทอนชีวิตรักของลูกกันแน่
พ่อแม่จำนวนไม่น้อยรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อลูกสาว-ลูกชาย ออกเรือนไปมีชีวิตคู่ แม้ใจหนึ่งจะยินดี แต่ก็อดใจหายไม่ได้ มีหลายเหตุผลที่พ่อแม่ ไม่อยากปล่อยมือจากชีวิตลูก แม้ว่าลูกจะเติบโตแล้วก็ตาม สาเหตุหลักอาจมาจากบุคลิกและปมปัญหาในชีวิตพ่อแม่เอง หรืออาจมาจากความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างพ่อแม่กับลูกๆ
ข้อมูลจาก andwemet.com เว็บไซต์หาคู่ยอดนิยมของประเทศอินเดีย ระบุว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ชีวิตคู่ล้มเหลว คือ การที่พ่อแม่รบกวนความสัมพันธ์ของลูกมากเกินไป หากมองดูในสังคม ก็อาจพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อย ที่ปัญหาชีวิตคู่ไม่ได้เกิดจากคนสองคน แต่มาจาก คนที่สามสี่ห้า นั่นคือพ่อแม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั่นเอง
บทความนี้จึงอยากชวนพ่อแม่ทบทวนบทบาทของตนเองว่าอยู่ตรงไหนในชีวิตคู่ของลูก หากกำลังล้ำเส้นเกินไปอะไรเป็นสาเหตุให้พ่อแม่ทำเช่นนั้น แล้วมีวิธีไหนบ้างที่จะบาลานซ์ความสัมพันธ์ให้ลงตัว
สิทธิของความเป็นพ่อแม่ vs สิทธิในชีวิตลูก
ปัญหาแม่ยาย-ลูกเขย หรือ แม่ผัว-ลูกสะใภ้ จัดเป็นปัญหาคลาสสิกที่คงไม่ได้มีเพียงแต่ในประเทศไทย เพราะหากพูดถึงความรู้สึกของคนเป็นพ่อแม่แล้ว ทั่วทั้งโลกก็คงไม่ต่างกันเท่าใดนัก แต่ในครอบครัวแถบเอเชียที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อแม่อยู่ร่วมบ้านกับลูกที่แต่งงานแล้ว ทำให้เส้นแบ่งระหว่างความเป็นพ่อแม่และความเป็นส่วนตัวของชีวิตคู่ดูเลือนลาง ผนวกกับความรู้สึกของการเป็นพ่อแม่ที่เชื่อว่าตนเอง ‘มีสิทธิ’ ทำให้บางครั้งความหวังดี ก็อาจเป็นการล้ำเส้นได้ง่ายๆ
การกล่าวเตือนด้วยความห่วงใยอย่างแท้จริงย่อมเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาคือ บ่อยครั้งคำเตือนหรือการแสดงออกของพ่อแม่อาจก้าวก่ายชีวิตคู่ของลูกมากเกินไป เช่น แม่เห็นลูกชายต้องนั่งรถเมล์ไปทำงาน ขณะที่ลูกสะใภ้ขับรถ จึงกล่าวเตือนลูกชายว่ากำลังถูกเอาเปรียบ แต่ทั้งสองอาจตกลงกันแล้ว เพราะที่ทำงานของภรรยาต้องเข้าซอยลึกเดินทางลำบากกว่า แต่เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริงทำให้คนเป็นแม่ที่ห่วงลูกชาย เอ่ยปากโทษลูกสะใภ้ ซึ่งนานๆ ครั้งคงไม่เป็นไร แต่หากเกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่เพียงลูกสะใภ้จะอึดอัดใจ แต่ลูกชายที่เป็นคนกลางก็ย่อมวางตัวลำบากเช่นกัน
ในความเป็นพ่อแม่ย่อมมีสิทธิตักเตือน ติชม แนะนำ สิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อลูกได้เสมอ เพราะสิทธิในความเป็นพ่อแม่ไม่เคยหายไป แต่ต้องเข้าใจว่าสิทธินี้ลดน้อยลงตามกาลเวลา เพราะเมื่อเติบโตขึ้น ลูกก็มีสิทธิในชีวิตตนเองเช่นกัน ความรักและความปรารถนาดีของพ่อแม่เป็นเรื่องดี แต่หากไม่รู้เท่าทัน พ่อแม่อาจตกหลุมพรางความหวังดี จนนำมาใช้เป็นเหตุผลก้าวก่ายชีวิตคู่ของลูก ทั้งที่ควรเป็นเรื่องระหว่างคนสองคน
พ่อแม่มีแผลใจ ที่ไม่ปล่อยวาง
สาเหตุอีกประการที่ทำให้พ่อแม่ไม่อาจปล่อยวางจากชีวิตคู่ของลูก มาจากการที่พ่อแม่เองมีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากความสัมพันธ์ฝังใจ ไม่ว่าจะจากคนรักในอดีต หรือคู่ชีวิตในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีความสุขในชีวิตคู่ จึงวางความคาดหวังของตนเองลงในความสัมพันธ์ของลูกไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
สิ่งที่พ่อแม่กลุ่มนี้มักแสดงออกคือ การตั้งคำถาม วิพากษณ์วิจารณ์คู่ครองของลูก เช่น “แฟนลูกไม่ช่วยทำความสะอาดบ้านเลยเหรอ” หรือ “ทำไมสามีลูกไม่ให้เงินใช้ทุกเดือนล่ะ”
คำถามเหล่านี้อาจมีความห่วงใยปนอยู่ แต่ลึกลงไป อาจพบว่านอกจากความห่วงใยแล้วยังมาจากส่วนลึกที่พ่อหรือแม่ต้องการสิ่งนั้นๆ จากชีวิตคู่ตนเอง เมื่อไม่เคยได้รับจึงวางความคาดหวังนั้นไว้กับชีวิตคู่ของลูก ซึ่งหากไม่ได้คำตอบที่พอใจ ก็จะรู้สึกไม่ยอมรับคู่ครองของลูกไปโดยปริยาย เพราะสำหรับพ่อแม่บางคนก็ยากที่จะยอมรับว่าลูกมีตัวตนที่แตกต่าง มีความคิด ความต้องการ และให้คุณค่าสิ่งต่างๆ ในชีวิตแตกต่างไปจากตน
พ่อแม่ที่โตไม่ทันลูก
สำหรับพ่อแม่บางคน แม้ลูกจะเติบใหญ่ แต่ในสายตาพ่อแม่ก็ยังมองว่าลูกเป็นเด็กน้อยที่ต้องได้รับการดูแล แนะนำ ประคับประคองอยู่เสมอ เพราะความเคยชินที่เลี้ยงดูลูกมาตั้งแต่แบเบาะ จนเข้าสู่วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ผ่านเวลาเป็นสิบๆ ปี ความเคยชินนี้ ทำให้พ่อแม่อาจลืมตระหนักว่า เด็กน้อยวันนั้น เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลตัวเองได้แล้ว
ปัญหาคือ แม้ลูกจะเติบโต ผ่านประสบการณ์ในชีวิตมากมาย แต่พ่อแม่กลับโตไม่ทันลูก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ พ่อแม่ไม่ได้รับรู้ว่าลูกผ่านประสบการณ์ใดมาบ้าง พ่อแม่จึงมีเพียงภาพจำในวัยเยาว์ที่ลูกยังต้องการคนดูแล เพราะสองสามทศวรรษที่ผ่านมา พ่อแม่เลี้ยงดูและให้คำปรึกษาในชีวิตลูกแทบทุกเรื่อง สำหรับพ่อแม่บางคนจึงยากจะเข้าใจว่าตอนนี้ลูกเป็นผู้ใหญ่ ที่สามารถตัดสินใจและรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองแล้ว
เมื่อพ่อแม่โตไม่ทันลูก เพราะยังยึดติดกับภาพวัยเยาว์ของลูก พ่อแม่จึงไม่ยอมรับการตัดสินใจและทางเลือกของลูก เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ลูกเลือกเองมักผิดพลาด ส่วนพ่อแม่นั้นรู้ดีกว่าเพราะมีประสบการณ์มากกว่า พ่อแม่อาจใช้วิธีแนะนำ เกลี้ยกล่อม หรือควบคุมบงการเพื่อให้ลูกรู้สึกว่าสิ่งที่เลือกเองนั้นผิด จนนำไปสู่ความขัดแย้งในชีวิตแต่งงานของลูก
เมื่อ How to love ส่งผ่านทางสายเลือด
การที่พ่อแม่สามารถล้ำเส้นเข้ามาในชีวิตคู่ของลูก ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากความยินยอมของลูกๆ เอง เพราะว่ากันว่าวิธีที่เรารักใครสักคนส่วนหนึ่งก็มาจากประสบการณ์ที่เราได้รับความรักจากพ่อแม่ด้วย
ดร.เบน มิชเชลลิส (Dr. Ben Michaelis) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ อธิบายว่า ความรักและการเลี้ยงดูของพ่อแม่ส่งผลต่อชีวิตรักของลูกเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ไม่มากก็น้อย เพราะคนเราเรียนรู้วิธีที่จะรักใครสักคนจากการได้รับความรักจากพ่อแม่นั่นเอง ดร.มิชเชลลิส ยกตัวอย่างหญิงคนหนึ่งที่ต้องมีแฟนตลอดเวลา แม้ต้องทนกับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษก็ตาม เมื่อค้นหาสาเหตุลึกลงไป จึงพบว่าแม่ของหญิงผู้นี้สอนว่าเกิดเป็นผู้หญิงต้องมีผู้ชายดูแลตลอดเวลา หรืออีกกรณีหนึ่งคือ เด็กหญิงที่มักได้รับของขวัญล้ำค่าจากพ่อ เมื่อโตขึ้นก็คาดหวังให้คนรักซื้อของขวัญล้ำค่าให้ตลอดเวลา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนรักของเธออาจทำไม่ได้เช่นนั้น
บทเรียนจากตัวอย่างดังกล่าว ก็คือ แม้เราไม่อาจเปลี่ยนคำสอนหรือวิธีที่พ่อแม่แสดงความรักต่อเราได้ แต่การรู้เท่าทันว่าสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อชีวิตรักและความคาดหวังต่อคู่ชีวิต ก็จะช่วยให้คนเราเลือกแสดงออกในความสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อประคับประคองชีวิตรักให้ยั่งยืนได้
สำหรับพ่อแม่ แม้จะมีคำกล่าวว่า รักของพ่อแม่เป็นรักที่บริสุทธิ์และไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่หากมองแบบไม่โลกสวยแล้ว ในทุกความปรารถนาดี แม้กระทั่งจากพ่อแม่ ล้วนมีความรักตัวเองซ่อนอยู่ไม่มากก็น้อย คำกล่าวที่ว่ารักของพ่อแม่เป็นรักที่บริสุทธิ์ในอีกแง่หนึ่งจึงอาจเป็นหลุมพราง ที่หากรู้ไม่เท่าทัน พ่อแม่บางคนก็อาจใช้คำกล่าวนี้มาเป็นเหตุผลเพื่อบงการชีวิตลูกในนามของความรักและหวังดีจนกระทบชีวิตคู่ของลูกได้
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความรักของคู่ชีวิต หรือความรักของพ่อแม่ ล้วนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือการเรียนรู้ที่จะรักและปล่อยวาง เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของใครอย่างแท้จริง ความสัมพันธ์ที่เหนี่ยวรั้งย่อมทำร้ายกันมากกว่าความสัมพันธ์ที่เว้นช่องว่างให้ต่างคนต่างเติบโตด้วยตนเอง
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น