5 ข้อน่ารู้ ฝีดาษลิง หลัง WHO ประกาศ ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
‘โรคฝีดาษลิง’ กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่กรมควบคุมโรคได้แถลงสถานการณ์ล่าสุดในไทย ว่าพบผู้ป่วยสงสัยเป็นโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทย
22 สิงหาคมที่ผ่านมา สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการตรวจผู้ป่วยชาวยุโรปที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาว่า ติดเชื้อฝีดาษลิงสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก (Clade 1b) รายแรกในประเทศไทย
ฝีดาษลิง มาจากไหน อาการเป็นอย่างไร มีวัคซีนรักษาแล้วหรือยัง และเราจะป้องกันตัวเองอย่างไร ไทยรัฐพลัสรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ Mpox และสถานการณ์หลังองค์การอนามัยโลกประกาศยกระดับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่น่ากังวลระหว่างประเทศ
ความเป็นมาของโรคฝีดาษลิง
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) หรือไข้ทรพิษลิง เกิดจาก ไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ไวรัสโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) โดยพบเชื้อในสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต เป็นหลัก ถูกพบครั้งแรกในห้องทดลอง เมื่อประมาณ 60 ปีก่อน เป็นการพบเชื้อไว้รัสจากลิง จึงเป็นที่มาของชื่อ ฝีดาษลิง
โรคฝีดาษลิง พบแพร่ระบาดอยู่ทั่วไปในทวีปแอฟริกา จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น อัตราการเสียชีวิต 1-10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้การเสียชีวิตขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัส โดยสายพันธุ์หลักของโรคฝีดาษลิงแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือ สายพันธุ์ Congo Basin พบอัตราการเสียชีวิต 10 เปอร์เซ็นต์ และสายพันธุ์ West African พบอัตราการเสียชีวิต 1 เปอร์เซ็นต์
การแพร่กระจายของโรค
โรคฝีดาษลิง ติดต่อจากสัตว์สู่คน : มีความเสี่ยงเมื่อเราสัมผัสสัตว์ป่วย สัตว์ที่เป็นพาหะ ซากสัตว์ที่ตาย เนื้อสัตว์ เลือด สารคัดหลั่ง น้ำหนอง ผื่นของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือถูกสัตว์กัดและข่วน
โรคฝีดาษลิง ติดต่อจากคนสู่คน : มีความเสี่ยงผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ไอ จาม น้ำลาย หนอง ผื่น หรือสิ่งของปนเปื้อนเชื้อ และของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย
อาการโรคฝีดาษลิง
โรคฝีดาษลิง หลังจากรับเชื้อจะมีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 5-21 วัน ขึ้นอยู่กับว่าเรารับเชื้อมามากน้อยแค่ไหน โดยอาการเริ่มต้น ผู้ติดเชื้อจะมีอาการ มีไข้ ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดกระบอกตา และต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย
อาการต่อมน้ำเหลืองโต ถือเป็นเอกลักษณ์ที่สังเกตได้ของโรคนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะจุดที่สัมผัสโรคตามผิวหนัง เช่น คอ ไหปลาร้า ข้อศอก รักแร้ ขาหนีบ อวัยวะเพศ และรอบๆ ทวารหนัก จำนวนตุ่มนูนมีขึ้นได้ตั้งแต่หนึ่งหรือมากกว่านั้น ตุ่มจะเริ่มจากมีลักษณะแบน จากนั้นมีน้ำด้านใน ก่อนที่จะตกสะเก็ดและหลุดออก โดยที่ผิวหนังใหม่จะถูกสร้างขึ้นภายใต้สะเก็ด
โดยอาการของโรคฝีดาษลิงส่วนมากจะเป็นอยู่ 2-3 สัปดาห์ แล้วหายไปได้เอง หรือหายจากการรักษาตามอาการ
วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง
เนื่องจากการติดโรคฝีดาษลิงเกิดจากการสัมผัส วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ ลดความเสี่ยงการติดฝีดาษลิงด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อย เลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือสัตว์ที่อาจติดเชื้อ
รศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เปิดเผยถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง หรือป้องกันโรค Mpox ของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ว่า ได้ดำเนินการนำเข้าวัคซีนป้องกันตั้งแต่ช่วงแรกที่พบการติดเชื้อ โดยมีวัคซีนสำรองประมาณ 2,000 โดส ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันครอบคลุมทุกสายพันธุ์
สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันตอนนี้มีความจำเป็นหรือไม่ รศ.นพ.โอภาส มองว่า ไม่จำเป็นฉีดวัคซีนทุกคน ฉีดแค่กลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่มีประวัติใกล้ชิด หรือสัมผัสผู้ป่วย รวมถึงผู้ที่ต้องการเดินทางไปยังประเทศซึ่งพบการระบาดของโรค
อย่างไรก็ตามถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่เคยรับการปลูกฝีดาษ หรือเคยปลูกฝีมาก่อนแล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้ารับวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้ที่เกิดก่อนปี 2523 ทั้งนี้หากผู้เคยปลูกฝีผู้เป็นกลุ่มผู้เสี่ยงสูง ให้เข้ารับวัคซีนเพิ่มอีก 1 เข็ม เสมือนเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค
สถานการณ์ในการป้องกันฝีดาษลิงในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ Mpox หรือโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) หลังพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และประเทศในแอฟริกา ถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่น่ากังวลระหว่างประเทศ (PHEIC)
ทั้งนี้ ในปี 2565 WHO เคยประกาศให้การระบาดของฝีดาษลิงในหลายประเทศเป็น PHEIC เหมือนกัน การประกาศเช่นนี้เป็นระดับการเตือนภัยด้านสาธารณสุขที่สูงที่สุดภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ และจะช่วยยกระดับการประสานงาน ความร่วมมือหยุดยั้งการแพร่ระบาด และปกป้องประชากรเปราะบางได้
ทั้งนี้ การระบาดทั่วโลกในปี 2565 เกิดจากไว้รัสสายพันธุ์ กลุ่มที่ 2 ซึ่งไม่รุนแรงเท่ากลุ่มที่ 1 ทำให้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขครั้งแรกสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม 2023 ก่อนที่จะเริ่มมีการระบาดของเชื้ออีกครั้ง และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
ความคิดเห็น