ก้าวไกล เด้งรับ "ปิยบุตร" ซัด "มาตรฐานจริยธรรม" ตัดสิทธิ พรรณิการ์ ตลอดชีพ
"ก้าวไกล" เด้งรับ "ปิยบุตร" ซัด กลไก "มาตรฐานจริยธรรม" ไม่สอดคล้องมาตรฐานประชาธิปไตยสากล เปิดช่องใช้อำนาจประหารชีวิตนักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน ย้ำ จำเป็น ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ปฏิรูปอำนาจ-ที่มาองค์กรอิสระ
วันที่ 21 ก.ย. 2566 พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก ต่อกรณีตัดสิทธินักการเมือง อิทธิฤทธิ์ของกลไก "มาตรฐานทางจริยธรรม" ในรัฐธรรมนูญ 2560 และความจำเป็นในการปฏิรูปองค์กรอิสระ โดยระบุว่า เมื่อวาน ศาลฎีกามีคำพิพากษาถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิตของคุณพรรณิการ์ วานิช ด้วยฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามกฎหมาย จากโพสต์ในโซเชียลมีเดียเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ก่อนคุณพรรณิการ์ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร
รายละเอียดเนื้อหาสาระของคำพิพากษาต่อกรณีนี้ มีหลายส่วนถูกตั้งคำถามโดยสังคม ไม่ว่าจะเป็นข้อสังเกตเรื่องห้วงเวลาของการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนการรับตำแหน่งทางการเมือง คำถามเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกที่ควรเป็นสิทธิพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือการที่การกระทำเดียวกันของคุณพรรณิการ์ เคยถูกฟ้องในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) แต่ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้อง ยิ่งสะท้อนให้เห็น "ความผิดปกติ" ของการพิจารณาที่อาจถูกตั้งคำถามได้ว่า ได้ให้ความเป็นธรรมแก่คุณพรรณิการ์อย่างเพียงพอหรือไม่
ในภาพใหญ่ เหตุการณ์ของคุณพรรณิการ์ เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ตอกย้ำถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้ขยายอำนาจขององค์กรอิสระ ซึ่งมีที่มาที่ขาดความยึดโยงกับประชาชน แต่เปิดช่องให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมือง โดยเฉพาะการทำลายอนาคตทางการเมืองของผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผ่านกลไกไม้บรรทัดที่ชื่อ "มาตรฐานทางจริยธรรม" ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกใช้เป็นเหตุในการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตมาแล้วอย่างน้อย 4 กรณี ที่เป็นที่รับรู้ วงกว้าง คือ ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี (พิพากษาเมื่อ 7 เมษายน 2565) อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต สส.มุกดาหาร (พิพากษาเมื่อ 6 มกราคม 2566) กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ (พิพากษาเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2566) และ ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต สส.กรุงเทพฯ (พิพากษาเมื่อ 3 สิงหาคม 2566)
"มาตรฐานทางจริยธรรม" ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219 เป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดร่วมกันโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แต่ถูกบังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด รวมถึงสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 235 กำหนดให้ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้อง และเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในกรณีที่เห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
กลไกนี้มีหลักการที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานประชาธิปไตยสากล เพราะนอกจากเป็นการวางกลไกที่ "ผิดฝาผิดตัว" ในการให้อำนาจองค์กรหนึ่งมากำหนดมาตรฐานจริยธรรมหรือพิพาษาเรื่องจริยธรรมขององค์กรอื่น แต่ยังเป็นการเปิดช่องให้องค์กรตุลาการใช้อำนาจในการ "ประหารชีวิต" นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ด้วยข้ออ้างเรื่อง "จริยธรรม" ที่สามารถถูกเขียนไว้อย่างกว้างและสามารถถูกตีความได้ตามดุลพินิจของตนเอง
เหตุการณ์นี้จึงยิ่งตอกย้ำความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พรรคก้าวไกลหวังว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยการปฏิรูปอำนาจและที่มาขององค์กรอิสระเป็นวาระที่ขาดหายไม่ได้ ซึ่งจำเป็นต้องรวมถึง
(1) การวางขอบเขตอำนาจให้สมเหตุสมผลและไม่เปิดช่องให้ถูกใช้ในการขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชน
(2) การปรับกระบวนการสรรหา-รับรองผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระให้ยึดโยงกับประชาชนและไม่ถูกผูกขาดไว้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมือง
(3) การสร้างกลไกในการตรวจสอบและกลไกรับผิดรับชอบขององค์กรอิสระ
ดังนั้น ไม่ว่าอาวุธเรื่อง "มาตรฐานจริยธรรม" ตามกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 จะถูกใช้กับนักการเมืองคนใดหรือจากพรรคการเมืองใด และไม่ว่าพฤติกรรมของนักการเมืองคนนั้น จะเป็นสิ่งที่ท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ทันทีที่สังคมไทยยอมรับให้การใช้อาวุธนี้กลายเป็นเรื่องปกติ นั่นเท่ากับเรายอมรับให้มีการทำลายล้างกันทางการเมืองอย่างไม่ชอบธรรม จนสุดท้าย "มาตรฐานจริยธรรม" อันเลื่อนลอย-ไร้มาตรฐานนี้ เป็นอาวุธหวนกลับมาบ่อนทำลายหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/news/politic/2726911
ความคิดเห็น