ตามหาความงามในสนาม F1 เมื่อชัยชนะไม่ได้วัดกันแค่ความเร็ว และรถไม่อาจวิ่งได้หากขาดทีมเบื้องหลัง
Summary
- F1 หรือ Formula One World Championship มักถูกจดจำว่าเป็นการแข่งประชันความเร็ว แต่นอกจากรถ นักแข่ง และความเร็วแล้ว เบื้องหลังของมันยังเต็มไปด้วยทีมงานจำนวนมากทั้ง วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และผู้วางกลยุทธ์
- เชลล์ (Shell) บริษัทด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของโลกเป็นพาร์ทเนอร์ด้านเทคโนโลยีที่จับมือกับทีมเฟอร์รารี่มาอย่างยาวนาน นอกจากเชื้อเพลิงจะเป็นปัจจัยสำคัญในชัยชนะของทีมแข่งแล้ว สนาม F1 ยังเป็นห้องทดลอง ที่เชลล์ใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งต่อไปยังผู้ใช้บนถนนจริงด้วย
- ไทยรัฐพลัสพาไปเที่ยวการแข่งขัน F1 รอบสิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ สำรวจเบื้องหลังการแข่งขัน และตามหา ‘ความงาม’ ที่ทำให้ศึกรถเร็วเป็นที่รักของผู้คน
ภาพถ่าย : Shell Creative Hub
ใครๆ ก็คงนึกถึงความเร็วเป็นอย่างแรก หากพูดถึงการแข่งขัน F1 หรือ Formula One World Championship และหากพูดให้เจาะจงยิ่งกว่านั้น ก็มักเป็นความเร็วเหนือจินตนาการแบบที่เราไม่ได้พบในชีวิตประจำวันด้วย
อาจเพราะแบบนั้นผู้ที่ไม่ได้ตื่นเต้นไปกับความเร็ว หรือมีความรู้เรื่องรถแบรนด์ใดเป็นพิเศษอย่างฉัน จึงไร้ซึ่งภาพจำต่อการแข่งขันรถเร็วดังกล่าว และรู้สึกราวกับว่าตัวเองและการแข่งขันนี้เป็นถนนคู่ขนานที่ไม่ได้เดินทางมาบรรจบกันสักครั้ง
จนกระทั่งวันหนึ่งที่มีโอกาสเข้าไปนั่งชมการแข่งขัน F1 รอบสิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ ที่อ่าวมารีนาอันงดงาม ฉันจึงตั้งใจอย่างแรงกล้าว่าจะตามหา ‘ความงาม’ ของ F1 ในแบบฉบับของตัวเองให้พบ ตอบให้ได้ว่าอะไรที่ทำให้การแข่งขันนี้เป็นที่รักของผู้คนจำนวนมาก และผู้ที่ไม่ได้รักชอบความเร็วนัก จะปลาบปลื้มกับการแข่งขันนี้ได้ในกิโลเมตรที่เท่าไร
เกาะสิงคโปร์ในเดือนกันยายน 2023 กลายสภาพเป็นพื้นที่รับรองนักท่องเที่ยวจากหลายมุมโลก คนจำนวนมากเดินทางมาดูการแข่งขัน F1 โดยเฉพาะ สังเกตได้จากการสวมใส่ ‘เสื้อทีม’ ที่ตัวเองเชียร์ ขนาดโรงแรมที่ฉันเข้าพักยังเตรียมของต้อนรับเป็นขนมนมเนยที่ประดับด้วยรูปรถแข่ง กระทั่งตามห้างสรรพสินค้าหรือย่านคนเดินต่างๆ ก็จะพบกับบูธขายสินค้าเกี่ยวกับ F1 ทั้งเสื้อผ้าและอาร์ตทอย คงไม่เกินไปนักหากจะบอกว่าสัปดาห์นั้นคือ ‘สัปดาห์ F1’ สำหรับสิงคโปร์
F1 เป็นการแข่งขันที่วัดชัยชนะผ่านการสะสมคะแนนจากการแข่งขันรายการย่อยหรือ ‘กรังด์ปรีซ์’ (Grand Prix) รายการย่อยแต่ละครั้งจะจัดขึ้นตามประเทศต่างๆ จนจบฤดูกาลผู้ที่สะสมคะแนนได้สูงสุดจึงจะถูกประเมินจากคณะกรรมการให้กลายเป็นผู้ชนะประจำปี
ที่สิงคโปร์กรังด์ปรีซ์ สนามจัดการแข่งขัน F1 ไม่ใช่สนามเสียทีเดียว แต่เป็นถนนที่คนใช้สัญจรในชีวิตจริง บริเวณแลนด์มาร์กยอดฮิตอย่างริมอ่าวมารีนา รัฐบาลสิงคโปร์และผู้จัดการแข่งขันได้เนรมิตมันให้กลายเป็นพื้นที่ประลองความเร็วที่เรียกว่า Marina Bay Street Circuit
จากการสัมผัสด้วยตาตัวเอง ฉันคิดว่ามันเป็นสนามแข่งขันที่ตระการตาเป็นพิเศษ เพราะทั้งอยู่ใกล้บริเวณริมน้ำ มองเห็นตึกสูงอันสวยงาม เช่น อาคารรูปเรือขนาดใหญ่ของรีสอร์ตหรูมารีนาเบย์แซนด์ เยื้องๆ กันไม่ไกลยังมีชิงช้าสวรรค์ชมวิว หรือสิงคโปร์ ฟลายเออร์ ที่หากขึ้นไปบนนั้นจะมองเห็นวิวสนามแข่งขันได้โดยรอบ และยังเป็นการแข่งขันที่ผู้ชมได้รับความสะดวกสบาย เพราะเดินทางได้ง่ายๆ ด้วยรถไฟใต้ดิน จะบอกว่าผลพวงของการจัด F1 เผยให้เห็นความน่าดึงดูดของประเทศด้วยก็คงไม่เกินจริงนัก
ทันทีที่เท้าเหยียบเข้าสนามแข่ง เสียงเครื่องยนต์ก็คำรามทักทายดังก้อง แม้ฉันจะเดินทางมาถึงสิงคโปร์ก่อนงานเริ่ม และเตรียมตัวมาปะทะกับงาน F1 ตั้งแต่อยู่ประเทศไทย แต่เสียงดังกล่าวนับเป็นสิ่งแรกที่แจ้งเตือนให้ตระหนักว่ามาถึงแล้วจริงๆ และสำหรับแฟนๆ F1 นี่คงเป็นเสียงที่ทำให้ใจของพวกเขาเต้นรัวมากทีเดียว
แสงจ้าและอากาศร้อนชื้นของสิงคโปร์เป็นสัญญาณว่าการแข่งขันยังไม่เริ่มต้นขึ้น เนื่องจากสิงคโปร์กรังด์ปรีซ์เป็นการแข่งรอบ Night Race ยามค่ำคืน (แบบที่แทบไม่มีสนามไหนในโลกเขาจัดกัน) ก่อนจะจับจองที่นั่งริมขอบสนาม ฉันจึงได้เข้าไปเยี่ยมชมในพื้นที่โซน Paddock หรือบริเวณที่ทีมแข่งใช้เตรียมตัวและพักผ่อน โดยผู้นำชมครั้งนี้คือ ‘เชลล์’ (Shell) บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ ที่ไม่เพียงให้บริการน้ำมันขับเคลื่อนรถยนต์บนถนน แต่ยังเป็นพาร์ตเนอร์ด้านเทคโนโลยีพลังงานที่สำคัญของทีมแข่งในตำนานอย่างทีม สคูเดอเรีย เฟอร์รารี (Scuderia Ferrari) หรือที่ใครก็เรียกสั้นๆ ว่าทีมเฟอร์รารีนั่นเอง
บริเวณ Paddock ให้บรรยากาศที่ขวักไขว่พอสมควร มีทั้งนักข่าวกีฬาต่างประเทศที่แต่งตัวเปรี้ยวเข็ดฟัน ช่างภาพกีฬาที่พกเลนส์ขนาดยาวเหมือนกล้องส่องทางไกลมาคอยเก็บภาพนักแข่ง มดงานอีกจำนวนมากที่เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน ไปจนถึงธงและสัญลักษณ์ประจำทีมที่ตั้งเรียงรายเหมือนจะประกาศศักดา ไล่ไปตั้งแต่ทีม Mercedes-AMG Petronas, Red Bull Racing, McLaren และทีมที่นำฉันมาที่นี่ Scuderia Ferrari
การเดินทัวร์ใน Paddock ช่วยให้ฉันพบข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างหนึ่งนั่นคือ นอกจากรถ ความเร็ว และนักแข่ง องค์ประกอบล้ำค่าอีกอย่างคือทีมงานเบื้องหลัง เช่น วิศวกร ช่างเครื่อง นักวิทยาศาสตร์ที่คอยดูแลข้อมูลและเทคโนโลยีต่างๆ แม้มดงานเหล่านี้จะไม่ได้ลงไปซิ่งในสนาม แต่พวกเขามีสงครามของตัวเองอยู่เบื้องหน้า ที่กดดันไม่แพ้การแข่งในสนามแต่อย่างใด
ใน Pit หรือพื้นที่ทำงานที่อบอวลไปด้วยสีแดงของทีมเฟอร์รารี มุมหนึ่งนักวิเคราะห์น้ำมันจากเชลล์กำลังทดสอบน้ำมันที่ใช้กับรถแข่งอย่างขะมักเขม้น ตู้คอนเทนเนอร์สี่เหลี่ยมเล็กๆ คือห้องปฏิบัติการที่พวกเขาใช้ทำงานมือเป็นระวิง ความเข้มข้นและกดดันปรากฏให้เห็นจากการที่พวกเขาหันมาทักทายผู้มาเยี่ยมชมได้ไม่ทันไร ก็ต้องกลับไปโฟกัสกับน้ำมันในหลอดทดลองขนาดเล็กจำนวนมหาศาลตรงหน้า
ฉันเริ่มเข้าใจเมื่อตัวแทนจากเชลล์อธิบายให้ฟังว่า พวกเขากำลังทดสอบน้ำมันเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำมันที่จะถูกนำไปใช้แข่งจริงจะบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งเจือปน และไม่มีอะไรผิดพลาด เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดีนั้นเท่ากับพลังงานการขับเคลื่อนที่ดี น้ำมันเครื่องที่ดีเท่ากับเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพ และการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยย่อมมีผลกับแรงม้าและสมรรถนะของทีม
จริงๆ แล้วการร่วมมือกันระหว่างเชลล์และเฟอร์รารีนั้นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เริ่มตั้งแต่ปี 1924 ที่เชลล์ได้จัดหาเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้กับ ‘เอนโซ เฟอร์รารี’ (Enzo Ferrari) ชายหนุ่มที่มีพื้นเพจากครอบครัวที่ทำธุรกิจอะไหล่เครื่องจักร ผู้ซึ่งชื่นชอบการแข่งขันรถอย่างมาก เขาเป็นนักแข่งรถกรังด์ปรีซ์ของอัลฟ่า โรมิโอ ที่คว้าชัยทุกรายการสำคัญในยุโรปและแอฟริกา และรถของเขาขณะนั้นขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงจากเชลล์
ภายหลังชายผู้นี้คือผู้ก่อตั้งทีมม้าลำพองหรือทีมสคูเดอเรีย เฟอร์รารี ในปัจจุบัน ทั้งยังผลิตรถมอเตอร์สปอร์ตเพื่อใช้ในการแข่งขัน F1 โดยเฉพาะ โดยรถคันแรกที่ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่าเฟอร์รารีก็เป็นรถที่ใช้เชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นจากเชลล์ด้วย
การเดินทางยาวนานของสองพาร์ตเนอร์ทำให้ฉันเข้าใจว่าทั้งคู่ต่างเติมเต็มซึ่งกันและกัน เหมือนที่รถยนต์ไม่อาจวิ่งได้หากขาดน้ำมัน แต่สิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกทึ่งเป็นพิเศษก็คือ การแข่งขัน F1 เองก็มีผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของเชลล์ ซึ่งจะส่งผลต่อน้ำมันที่เราใช้กันบนถนนอีกทอดหนึ่ง
เชลล์เล่าให้ฟังว่าพวกเขาใช้สนามแข่งขันรถ F1 เป็นห้องทดลองและพัฒนาน้ำมัน เพราะการจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีมาให้ผู้บริโภคใช้นั้น ผลิตภัณฑ์จะต้องถูกทดสอบในสถานการณ์ต่างๆ ให้มากที่สุด นั่นทำให้สนามขับรถที่มีอุปสรรคและสถานการณ์ยากๆ ไม่คาดฝันนับร้อยนับพันอย่างสนาม F1 กลายเป็นห้องทดลองที่ยอดเยี่ยม ยกตัวอย่างเชนน้ำมันเครื่องของเชลล์ที่ชื่อว่า Helix Ultra 0W ซึ่งเป็นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ชนิดพิเศษที่ใช้เทคโนโลยีเชลล์ เพียวพลัส จัดเป็นน้ำมันบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งเจือปน ทำให้น้ำมันเครื่องทำความสะอาดเครื่องยนต์ตลอดเวลา Helix Ultra 0W ก็เป็นน้ำมันที่ถูกทดสอบและพัฒนาร่วมกับทีมเฟอร์รารี แถมในห้องเครื่องยนต์ของทีมเฟอร์รารีเราจะสามารถเห็นหัวจ่ายน้ำมันเชลล์ ที่หน้าตาเหมือนกับเวลาเราเห็นในปั๊มเชลล์ไม่ผิดเพี้ยน
มองในแง่นี้ นักแข่งรถ F1 สุดเท่ก็เปรียบเสมือนคนที่เอาน้ำมันจากเชลล์ไปทดลองใช้ให้ ก่อนจะถึงมือผู้ขับขี่รถยนต์ทั่วไปอย่างเรานั่นเอง
และมองในแง่นี้ F1 ก็เปรียบเหมือนอนาคต
หากไม่ได้เข้ามาดูการทำงานเบื้องหลัง ฉันก็อาจเข้าใจว่าการแข่งขัน F1 เริ่มต้นขึ้นเมื่อนักแข่งเหยียบคันเร่งหลังกรรมการให้สัญญาณ แต่การได้มองเห็นคนมากมายทำงานกันอย่างมุ่งมั่นตั้งแต่ตะวันยังไม่ตกดิน วิศวกรที่ก้มๆ เงยๆ และสุมหัวกันตลอดเวลาในห้องเครื่อง นักวิเคราะห์น้ำมันที่ตรวจตราพลังงานทุกหยดที่จะถูกใช้ ยังไม่นับว่ามีทีมงานอีกมากที่คอยวางแผนและวิเคราะห์กลยุทธ์ในแต่ละครั้ง คนมหาศาลเหล่านี้ทำให้ฉันได้เข้าใจแท้จริงว่าการแข่งขันเริ่มขึ้นตั้งแต่อยู่นอกสนามแล้วต่างหาก
เมื่อดวงอาทิตย์ค่อยๆ จมหายไปกับเส้นขอบฟ้า ความคึกครื้นบริเวณสนามแข่งก็ปรากฏ ผู้ชมเริ่มจับจองพื้นที่ชมการแข่งขันบนอัฒจันทร์ ความโหดอยู่ตรงที่ว่า กองเชียร์ของแต่ละทีมจะนั่งคละกันไม่มีการแบ่งฝั่งหรือนั่งเป็นกลุ่มก้อนเหมือนเวลาชมกีฬาแบบอื่นๆ เรียกได้ว่าเชียร์ใครเชียร์มัน ดุเดือดไม่แพ้นักแข่งในสนาม แสงไฟถูกประดับประดาในทุกที่จนพื้นที่แข่งขันสว่างจ้าไม่แพ้เวลากลางวัน ขนาดบนตึกมารีนาเบย์แซนด์ก็ยังเปิดไฟเป็นรูปรถแข่งขยับขึ้นลงบนตัวตึก จนดูเหมือนตึกได้กลายเป็นกองเชียร์ไม่แตกต่างจากผู้ชม
ขอยอมรับไว้ก่อนว่าในตอนแรก ฉันก็นึกสงสัยว่าควรจะส่งเสียงเชียร์ตอนไหน ร่วมตื่นเต้นไปอย่างไรดี ในเมื่อรถจากทีมต่างๆ แล่นด้วยความเร็วสูง แทบจะเรียกได้ว่าผ่านตาเราไปในเสี้ยววินาที และหากต้องการจะจับภาพด้วยกล้องโทรศัพท์ก็คงต้องใช้ฝีมือกันมากพอดู แต่ความสงสัยก็พลันหายไปหมดเมื่อรถจากแต่ละทีมออกสตาร์ต เสียงเชียร์ดังขึ้นจากทุกผู้ชมในทุกโค้งของสนาม และเมื่อรถของนักแข่งวิ่งผ่านหน้าอัฒจันทร์ของใคร คนบนอัฒจันทร์ก็พากันลุกขึ้นยืนเชียร์ราวกับจะช่วยส่งแรงม้าได้อย่างไรอย่างนั้น
ในการแข่งขันรอบนี้ แต่ละทีมจะแข่งในระยะทางสนามประมาณ 4.94 กิโลเมตร โดยรถแข่งจะวิ่งทั้งหมด 62 รอบ คิดเป็นระยะทางรวมกว่า 306.28 กิโลเมตร ซึ่งความกดดันและความลุ้นก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจำนวนรอบมากขึ้น แต่จังหวะที่ชวนลุ้นและตอกย้ำความน่าทึ่งของ F1 อย่างถ่องแท้สำหรับฉัน คือเมื่อรถแข่งวิ่งเข้าสู่ Pit lane หรือทางที่นักแข่งจะวิ่งรถเข้าออกระหว่างรอบเพื่อซ่อมแซมรถ
เมื่อต้องซ่อมแซมรถ นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องชะลอความเร็วลงในขณะที่การแข่งขันยังดำเนินไป ยิ่งรถมีจุดที่ต้องซ่อมมากเท่าไร ก็จะยิ่งกินระยะเวลานานมากเท่านั้น และบางครั้งมันอาจเปลี่ยนอันดับของทีมต่างๆ ไปโดยปริยาย การเข้า Pit lane จึงเป็นช่วงเวลาที่ผู้ชมขอบสนามลุ้นกันแทบขาดใจ และเป็นจุดที่ตอกย้ำให้ฉันยิ่งเห็นความน่าทึ่งแท้จริงของ F1 เหมือนที่เห็นมาแล้วในห้องเครื่องก่อนการแข่งขันเริ่ม
มันคือช่วงเวลาที่มดงานจำนวนมากจะวิ่งกรูกันออกมาทำหน้าที่ของตัวเอง เปลี่ยนล้อ เปลี่ยนอะไหล่ แก้ไขจุดที่เป็นปัญหา ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นภายใต้ความกดดันและมี ‘อันดับ’ ของทีมเป็นเดิมพันอยู่ ในสนามวันนั้นรถที่วิ่งนำมาเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่แรกคือ คาร์ลอส เซนซ์ จากทีมเฟอร์รารี วินาทีที่เขาขับเข้า Pit Lane ฉันแทบสังเกตเห็นกองเชียร์ของทีมเฟอร์รารีหยุดหายใจ แต่ไม่ทันไรเสียงเฮก็ดังกระหึ่ม เพราะเขาหยุดจอดเพื่อซ่อมแซมรถในเวลาอันแสนสั้น แทบจะไม่เกิน 10 วินาทีด้วยซ้ำ เหมือนกับว่ารถของเขาเพียงชะละเล็กน้อยจนเกือบหยุดนิ่ง และขับพุ่งต่อไปในทันที
วินาทีนั้นฉันคิดว่ากองเชียร์ทีมเฟอร์รารีต่างรู้กันในใจว่านี่คือสัญญาณที่ดี คือสัญญาณของชัยชนะ
แต่สำหรับฉันที่เพิ่งเคยพาตัวเองมาพบกับ F1 เป็นครั้งแรก วินาทีนั้นคือข้อพิสูจน์ว่าความสมบูรณ์พร้อมของรถ เทคโนโลยีที่แต่ละทีมใช้มันสำคัญและทรงพลังแค่ไหน ทำให้ฉันได้เข้าใจว่าชัยชนะของ F1 ไม่ได้วัดกันเพียงความเร็ว แต่เป็นความเฉลียวฉลาด ไปจนถึงการทำงานร่วมกันอย่างแข็งแกร่งของทีม
ผลการแข่งขันในวันนั้นเป็นอย่างที่กองเชียร์เฟอร์รารีคาด คาร์ลอส เซนซ์ รักษาตำแหน่งผู้นำของสนามจนจบการแข่งขัน และคว้าชัยในสนามแรกของฤดูกาลนี้ให้กับเฟอร์รารีได้สำเร็จ และความงามที่ฉันตามหามาตั้งแต่การแข่งขันเริ่ม ก็ได้เผยตัวออกมาพร้อมกับชัยชนะของทีมเฟอร์รารี
ชัยชนะที่ไม่ได้วัดกันแค่เพียงความเร็ว
ชัยชนะที่วิ่งได้เพราะทีมงานมากมายเบื้องหลัง
และชัยชนะที่ฉันตระหนักว่าบางส่วนของมัน จะถูกส่งต่อไปยังผู้คนบนถนนแห่งความจริง
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น