เราจะทำให้คนแยกขยะได้อย่างไร? เมื่อ กทม.ขึ้นค่าธรรมเนียมคนที่ไม่แยกขยะ แต่คนยังติดภาพจำว่า ‘ขยะจะไปเทรวมกันอยู่ดี’
การจัดการขยะเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมเมืองทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขยะจำนวนมหาศาลและส่วนใหญ่ไม่ได้คัดแยกขยะอย่างถูกต้อง
แต่เมื่อไม่นานมานี้ สภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติเก็บค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 โดยจะขึ้นค่าเก็บขยะสำหรับบ้านที่ไม่ได้แยกขยะจาก 20 บาทเป็น 60 บาทต่อเดือน (ขยะไม่เกิน 20 ลิตร) ส่วนบ้านที่แยกขยะจะจัดเก็บในราคาเท่าเดิมคือ 20 บาทต่อเดือน เพื่อจูงใจให้คนแยกขยะกันมากขึ้น ข้อบัญญัติฯ นี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน ซึ่งจะต้องแยกเป็นขยะ 4 ประเภทหลัก ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย
หลายคนอาจมองว่าการแยกขยะเป็นเรื่องน่าเบื่อที่เพิ่มภาระในชีวิตประจำวัน ผนวกกับความเชื่อที่ว่า “แยกขยะไป รถขนขยะก็เทรวมกันอยู่ดี” ทำให้บางคนมองว่าการแยกขยะเป็นเรื่องไม่จำเป็นและตั้งคำถามกับนโยบายนี้ว่า กทม.จะมีความพร้อมกับการจัดเก็บขยะที่คัดแยกแล้วหรือไม่ เช่น ขยะพลาสติกที่ทำความสะอาดแล้วอาจถูกนำไปเก็บรวมกับขยะเศษอาหารที่มีกลิ่น หรือขยะที่เป็นกระดาษอาจถูกขยะประเภทอื่นเปรอะเปื้อน
แม้ความจริง กทม. จะย้ำว่ารถขยะต่างๆ ไม่ได้เทขยะรวมกันแล้วและถูกแยกขยะให้ด้วย แต่ภาพที่เห็นอยู่บ่อยครั้ง อย่างการเทถังขยะใหญ่ๆ ที่รวมขยะทุกประเภทเข้าไปที่หลังรถเก็บขยะ คงยากที่จะทำให้คนกรุงเทพลบภาพจำได้ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงนี้ยังทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนหันมาแยกขยะได้จริง
นโยบายแยกขยะถูกใช้มานานแล้วในหลายประเทศ แม้การทำให้ทุกคนแยกขยะจะดูเหมือนเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยการจัดการอย่างเป็นระบบก็ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาแยกขยะได้มากขึ้น
การแยกขยะในต่างประเทศทำได้อย่างไร
ประเทศญี่ปุ่น คือหนึ่งในประเทศที่แยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอันดับต้นๆ และใช้วิธีการเก็บค่าธรรมเนียมจำกัดขยะเช่นเดียวกัน โดยจะคิดค่าธรรมเนียม 46 เยน (10 บาท) ต่อ 1 กิโลกรัมหรือ 920 เยน (204 บาท) ต่อขยะ 20 กิโลกรัม ส่วนขยะชิ้นใหญ่ก็จะคิดธรรมเนียมในอีกเรทราคา เช่น โซฟา 2,100 เยน (465 บาท) หรือ พัดลม 400 เยน (89 บาท)
แต่ในกรณีที่ทิ้งขยะผิดกฎหมายจะถูกจำคุก 5 ปี หรือปรับสูงสุดถึง 10 ล้านเยน (2.2 ล้านบาท) แต่หากเป็นองค์กรจะถูกปรับ 300 ล้านเยน (66 ล้านบาท) ในขณะที่กฎหมายไทยการทิ้งขยะในที่สาธารณะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
นอกจากการรณรงค์ให้แยกขยะและค่าปรับที่สูง อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือระบบการเก็บขยะของหน่วยงานรัฐ ซึ่งในญี่ปุ่นจะใช้ระบบการแบ่งวันเก็บขยะแต่ละประเภทอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ขยะแต่ละประเภทปนกัน
เช่น วันเสาร์เก็บเฉพาะขยะรีไซเคิล วันจันทร์เก็บเฉพาะขยะประเภทกระดาษและของเหลือใช้ต่างๆ วันอังคารและวันศุกร์จะเก็บขยะเผาได้ เช่น เศษอาหารหรือเศษไม้ และวันพุธเก็บขยะอันตราย เช่น เศษแก้วแตก มีด หรือหลอดไฟ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะไม่เก็บขยะประเภทอื่นที่ทิ้งผิดวันเด็ดขาด
ในขณะที่ กทม. จะมีการแบ่งช่องหรือแบ่งถุงขยะในรถขยะ แต่กลิ่นและสิ่งสกปรกต่างๆ ของรถขยะก็ยังเป็นข้อครหาที่ทำให้หลายคนคิดว่าขยะทุกประเภทไปรวมอยู่ที่รถคันเดียวกัน แม้จะแยกขยะแล้วก็ตาม
ปัญหาหลักของการจัดการขยะคือขยะที่ส่งกลิ่นอย่างเศษอาหาร ซึ่ง กทม.ก็พยายามรณรงค์ในแคมเปญ ‘ไม่เทรวม’ เพื่อชวนให้คนแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่เมื่อปีก่อน รวมถึงการเพิ่มแรงจูงใจด้วยการลดการเก็บค่าขยะที่คัดแยกตั้งแต่ต้นทางในปัจจุบัน แต่หากจะจัดการปัญหาขยะเศษอาหารให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอาจเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้คนหันมาตระหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศเกาหลีใต้ที่ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ใน Global Waste Index เมื่อปี 2022 ด้วยการสร้างระบบจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง เช่น ในเกาหลีจะใช้การคิดราคาค่าจัดการขยะตามน้ำหนักขยะที่ทิ้ง โดยการทิ้งขยะเศษอาหารจะต้องถูกชั่งน้ำหนักในถังขยะอัจฉริยะที่ต้องใช้บัตรสำหรับผู้อยู่อาศัยในการแตะเพื่อเปิดและปิดถังขยะเท่านั้น เพื่อป้องกันการทิ้งขยะจากบุคคลนอกพื้นที่
โดยทั่วไปค่าธรรมเนียมในการจัดการขยะของเกาหลีจะเสียเงินประมาณ 9,000 วอน (220 บาท) ต่อเดือน แต่การเห็นน้ำหนักที่ชัดเจนในการทิ้งแต่ละครั้ง ก็ทำให้หลายคนหันมาจัดการขยะเศษอาหารอย่างจริงจังมากขึ้น อย่างการรีดน้ำจากเศษอาหารให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ขยะมีน้ำหนักเบาลงและจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการขยะน้อยลง อีกทั้งยังช่วยลดพื้นที่การเก็บขยะและลบคราบสิ่งสกปรกต่างๆ จากถังขยะได้มากขึ้น
ในขณะเดียวกันก็มีบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับคนที่ไม่แยกขยะ ซึ่งจะต้องเสียค่าปรับถึง 1,000,000 วอน(26,000 บาท) เกือบครึ่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำในเกาหลี และยังมีมาตรการส่งเสริมการลดขยะเศษอาหารไปพร้อมกัน เช่น โครงการทดลองใช้ AI เข้ามาช่วยในการตวงวัดเศษอาหารที่เหลือจากอาหารของนักเรียนในโรงเรียนและเก็บสถิติอาหารที่เหลือของแต่ละคนพร้อมคำนวณให้ว่าขยะเหล่านี้ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ ผลปรากฏว่าเด็กนักเรียนลดปริมาณขยะเศษอาหารได้จริงโดยเฉลี่ย 60 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลา 7 เดือน ทำให้กลายเป็นโครงการที่คาดว่าจะขยายต่อไปในอนาคตเพื่อลดขยะเศษอาหารมากขึ้น
นอกจากขยะเศษอาหารแล้ว ขยะมีค่าอย่างขยะรีไซเคิลก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องได้รับการกระตุ้นให้คนคัดแยกอย่างถูกต้อง เช่น ประเทศเยอรมนี ที่ถูกยกให้เป็นแหล่งจัดการขยะของยุโรป ด้วยระบบรีไซเคิลขยะที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ชาวเยอรมันมักนำขยะใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ขวดน้ำหรือขวดแก้วมาคืนที่ร้านค้า และเคยทำสถิติการคืนขยะสูงสุด 98 เปอร์เซ็นต์
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเยอรมนีใช้วิธี ‘การคืนขยะให้กับร้านค้า’ (return-to-retail) เพื่อให้ร้านเหล่านั้นรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ที่พวกเขาขาย ทั้งยังส่งเสริมให้ร้านค้าใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ด้วย เช่น ขวดแก้ว และเมื่อลูกค้านำขยะเหล่านั้นไปคืน พวกเขาก็จะได้รับเงินคืนกลับมาในเรทที่สูงถึงประมาณ 0.25 ยูโร (9.21 บาท) ต่อชิ้น และ 1.50 ยูโร (55 บาท) ต่อลัง ในขณะที่ไทยจะรับซื้อขยะรีไซเคิลเพียงประมาณกิโลกรัมละ 7-8 บาท
แม้โดยปกติชาวเยอรมันจะเสียค่าธรรมเนียมเก็บขยะประมาณ 105 ยูโร (3,870 บาท) ต่อปี (60 ลิตร) หรือประมาณ 8.75 ยูโร (322 บาท) ต่อเดือนอยู่แล้ว แต่การสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะรีไซเคิล อย่างการนำขยะกลับไปคืนแล้วได้เงินตอบแทนก็เป็นอีกมาตรการที่ช่วยให้คนแยกขยะเองมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศทั่วโลกยังมีวิธีการจัดการขยะที่แตกต่างกันออกไปตามบริบทและวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ แต่การกำหนดกฎเกณฑ์และเพิ่มแรงจูงใจจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงให้คนหันมาแยกขยะได้
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น