สเปซเอ็กซ์นำจรวดใช้แล้วลงจอด ใช้แขนกลจับได้สำเร็จครั้งแรกของโลก
สเปซเอ็กซ์ ประสบความสำเร็จในการควบคุมจรวดใช้แล้วให้กลับลงมา แล้วใช้แขนกลยักษ์ของหอปล่อยจรวดจับเอาไว้ได้กลางอากาศเป็นครั้งแรกของโลก
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัท สเปซเอ็กซ์ ประสบความสำเร็จในทดสอบส่งจรวด “สตาร์ชิป” (Starship) ด้วยจรวดขนส่งหนักพิเศษ (Super Heavy rocket) ครั้งที่ 5 โดยปล่อยจากฐานสตาร์เบส ของสเปซเอ็กซ์ ที่เมือง โบคา ชิกา ในรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อเวลาประมาณ 8.25 น. วันอาทิตย์ที่ 13 ต.ค. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น
แต่ในการทดสอบครั้งนี้ เพิ่มปฏิบัติการพิเศษเข้าไป คือการนำจรวดขนส่งหนักพิเศษความยาว 71 เมตร ที่แยกออกจากจรวดสตาร์ชิปและตกลงมายังโลก ให้ไปลงจอดโดยใช้แขนกลยักษ์ที่หอปล่อยจรวด ซึ่งสเปซเอ็กซ์เรียกว่า “ตะเกียบ” (chopsticks) จับเอาไว้กลางอากาศ และทีมงานก็สามารถทำภารกิจนี้ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก
ความสำเร็จดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในความทะเยอทะยานของสเปซเอ็กซ์ ที่ต้องการพัฒนาจรวดขับดันแบบใช้ซ้ำได้และติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสิ่งของหรือมนุษย์ไปยังวงโคจรโลก โดยทีมวิศวกรของสเปซเอ็กซ์ประกาศหลังจรวดลงจอดได้อย่างปลอดภัยว่า “อีกวันที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์”
ทั้งนี้ โอกาสที่แขนกลจะจับจรวดดังกล่าวได้อย่างแนบเนียนในการทดสอยครั้งแรกนั้นมีน้อยมาก โดยทีมงานของสเปซเอ็กซ์กล่าวไว้ก่อนเริ่มปล่อยจรวดว่า พวกเขาไม่แปลกใจเลย หากจรวดขับดันตกลงไปในอ่าวเม็กซิโกแทน
อีกด้านหนึ่ง จรวดสตาร์ชิปที่ถูกส่งขึ้นไป ยังคงบินต่อด้วยตัวเองในอวกาศโดยใช้เครื่องยนต์ 6 เครื่องที่ติดตั้งไว้บนจรวด ก่อนจะกลับลงมายังโลก แล้วลงจอดตรงจุดที่กำหนดในมหาสมุทรอินเดีย แล้วระเบิดไฟลุกท่วม ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของทีมงานสเปซเอ็กซ์ ซึ่งระบุว่า พวกเขาไม่มีแผนเก็บกู้ยานส่วนนี้อยู่แล้ว นี่จึงเป็นจุดจบที่ดีที่สุดสำหรับมัน
อนึ่ง จรวดขนส่งหนักพิเศษนี้ เป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดที่มีการสร้างมาจนถึงวันนี้ และวันหนึ่งมันจะถูกใช้เพื่อทำตามเป้าหมายของอีลอน มัสก์ และสเปซเอ็กซ์ ในการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ ตามด้วยดาวอังคาร
ขณะที่องค์กรนาซา ของสหรัฐฯ ก็น่าจะพอใจกับความสำเร็จในภารกิจนี้ เนื่องจากพวกเขาสบทบทุนถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.28 หมื่นล้านบาท) ให้สเปซเอ็กซ์พัฒนาจรวด สตาร์ชิป ให้กลายเป็นยานลงจอดที่สามารถพานักบินอวกาศไปยังพื้นผิดของดวงจันทร์ได้ภายในปี 2569
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ความคิดเห็น