"วันนากโลก" ร่วมรณรงค์ไม่นำมาเลี้ยง เสี่ยงใกล้สูญพันธ์ เพื่อระบบนิเวศที่สมบูรณ์
นนี้ “วันนากโลก” ร่วมรณรงค์ไม่นำ ‘นาก’ มาเลี้ยง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เสี่ยงใกล้สูญพันธ์ หากครอบครองถือว่าผิดกฎหมาย เพื่อระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์
วันนี้ (29 พฤษภาคม 2567) กองทุนเพื่อความอยู่รอดของนากระหว่างประเทศ (International Otter Survival Fund) หรือ IOSF กำหนดให้เป็น “วันนากโลก” ซึ่งจะตรงกับวันพุธสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคมในทุกปี
ทั้งนี้ เพื่อให้ตระหนักถึงภัยคุกคามที่มีต่อนาก อาทิ การคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัย การค้าขนสัตว์ผิดกฎหมาย การลักลอบนำมาเลี้ยง ปัญหามลภาวะ และการล่า ซึ่งวันนากโลกในปีนี้ตรงกับวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
นาก (Otter) เป็นสัตว์ในวงศ์เพียงพอน หรือ วงศ์วีเซล (weasel family, mustelid) ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับแบดเจอร์ เพียงพอน มิงค์ สโตธ เเละเฟอเรท
โดย นาก เป็นสัตว์ในตระกูลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด กินปลาเป็นอาหารหลัก และในปัจจุบันบนโลกเรามีนากอยู่มากถึง 13 ชนิด อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในประเทศไทยพบนากอยู่ 4 ชนิด ได้แก่
นากใหญ่ขนเรียบ (Smooth-coated Otter) พบได้บ่อยที่สุด ตามภาคกลาง ภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
นากเล็กเล็บสั้น (Asian Small-clawed Otter) พบน้อยกว่านากใหญ่ขนเรียบ จะพบได้ในบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่งวงก์ จังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดนครสวรรค์ ในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง มาจนถึงภาคใต้ บริเวณเขาใหญ่
นากใหญ่ธรรมดา (Eurasian Otter) จะมีการกระจายตัวอยู่ทางภาคเหนือ ยกอย่างเช่น ดอยอ่างขาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับนากใหญ่ขนเรียบ แต่มีขนที่หนาและฟูมากกว่านากใหญ่ขนเรียบ
นากจมูกขน หรือ นากใหญ่หัวปลาดุก (Hairy-nosed Otter) นับเป็นนากชนิดที่พบเห็นได้ยากพบเพียงไม่กี่ครั้งทางภาคใต้ของประเทศไทย แหล่งอาศัยหลักตามป่าพรุบริเวณพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และบริเวณป่าชายเลนแม่น้ำปัตตานี
ปัจจุบันนากทั้ง 4 ชนิด ถูกขึ้นบัญชีแดงจาก IUCN ในการให้สถานระดับการใกล้สูญพันธุ์ดังนี้
นากจมูกขน: ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered)
นากใหญ่ขนเรียบ และนากเล็กเล็บสั้น (Vulnerable)
นากใหญ่ธรรมดา: ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened)
สามารถพบนากได้ตามแหล่งน้ำ บึง ตลิ่ง หรือพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งนากจัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์กินเนื้อ กินอาหารจำพวกปลา ปู และหอย นากตามธรรมชาติจะเลือกกินอาหารที่ตนเองหาได้เท่านั้น ไม่กินปลาตายหรืออาหารที่มนุษย์นำมาให้
นอกจากนี้ นากถือได้ว่าเป็นนักล่าสูงสุดบนหัวโซ่อาหารในนิเวศแหล่งน้ำ เนื่องจากความสามารถในการเอาตัวรอด ทำให้นากแทบจะไม่ค่อยตกเป็นผู้ถูกล่าเลย หน้าที่ของนากในระบบนิเวศจะคอยควบคุมประชากรที่เป็นเหยื่อไม่ให้มากจนเกินไปจนเสียสมดุล กล่าวได้ว่า หากมีนากอยู่ที่ไหน นั่นก็หมายความว่าพื้นที่แห่งนั้นมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์
โดยนากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งในธรรมชาตินากมีหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาห่วงโซ่อาหารให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่นั้น ๆ ดังนั้นหากไม่มีนากอยู่ในป่า ก็จะทำให้ระบบนิเวศแห่งนั้นสูญเสียความสมดุลไป และยากต่อการฟื้นฟูให้กลับมาดังเดิม
แม้นากเหล่านี้จะน่ารัก แต่อย่างไรแล้วเราก็ไม่สามารถครอบครองได้ เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการฝืนกฎทางธรรมชาติของเหล่าสัตว์นักล่าในน้ำเหล่านี้อีกด้วย
มาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาระบบนิเวศทางธรรมชาติด้วยการปล่อยให้นากได้อยู่กับธรรมชาติที่ดี และปลอดภัย สามารถเริ่มจากตัวเราได้ง่าย ๆ ด้วยการไม่ทำลายระบบนิเวศในแม่น้ำ ลดการทำลายพื้นที่ป่า ที่สำคัญอย่าลืมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพียงเท่านี้ก็ทำให้ เหล่านักล่าแห่งน่านน้ำที่น่ารักอยู่คู่กับประเทศไทยให้เราได้เชยชมไปได้อย่างยาวนาน
ขอบคุณแหล่งที่มา : khaosod
ความคิดเห็น