ผู้รับสิทธิ "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" ต้องมีเงินออมรวมกัน ไม่เกิน 500,000 บาท
ลงทะเบียนรับสิทธิ "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" อย่าลืมเช็กเงื่อนไข คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ ต้องมีเงินออมรวมกัน ไม่เกิน 500,000 บาท
เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะเปิดให้ประชาชนทั่วไป กดรับสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" บนสมาร์ทโฟน ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม-15 กันยายน 2567 โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิในโครงการฯ
ดังนั้น ประชาชนทุกคนที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและมีคุณสมบัติครบถ้วน ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการไว้จำนวน 45-50 ล้านคน โดยสรุปเงื่อนไขของผู้ที่มีสิทธิ ดังนี้
คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
- สัญชาติไทย
- มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)
- ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
- ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 รวมกันเกิน 500,000 บาท โดยเป็นการตรวจสอบเงินฝาก จำนวน 6 ประเภท ได้แก่
1. เงินฝากกระแสรายวัน
2. เงินฝากออมทรัพย์
3. เงินฝากประจำ
4. บัตรเงินฝาก
5. ใบรับฝากเงิน
6. ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ 1-5 โดยเงินฝากให้หมายถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม
- ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
- ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ
- ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ
สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิ ลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถเช็กวิธีสมัครเข้าใช้งานแอปฯ "ทางรัฐ" แบบง่ายๆ ทำตามได้ภายในไม่กี่นาที เพื่อเตรียมรอกดรับสิทธิเงิน "ดิจิทัล 10,000 บาท" ได้ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น (สมัครเข้าใช้งานแอปฯ "ทางรัฐ" แบบง่ายๆ เตรียมรอกดรับสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท)
กลุ่มบุคคลที่ไม่ใช้สมาร์ทโฟน ลงทะเบียนวันไหน
การลงทะเบียนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด (ระหว่างวันที่ 16 กันยายน-15 ตุลาคม 2567) ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟน
สำหรับการใช้จ่ายนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน แต่การใช้สิทธิซื้อสินค้าจากร้านค้าจะทำได้ในวงแคบกว่าการใช้สิทธิของประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ทโฟน ดังนั้นการลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟนจะสามารถใช้งานได้สะดวกกว่า จึงแนะนำให้พยายามลงทะเบียนผ่านทางสมาร์ทโฟนก่อนเป็นอันดับแรก
เงินดิจิทัล 10,000 ซื้ออะไรได้บ้าง
- สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร, ไข่ไก่, เครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) สบู่, ยาสีฟัน, ผงซักฟอก, กะปิ, น้ำปลา, ซอสปรุงรส เป็นต้น
- สินค้าเพื่อการศึกษา เช่น เครื่องแบบนักเรียน, เครื่องเขียน, สมุด, ปากกา, ดินสอ เป็นต้น
- สินค้าวัตถุดิบเพื่อการเกษตร เช่น ปุ๋ย, ยาปราบศัตรูพืช, เมล็ดพันธุ์พืช เป็นต้น
- สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ผักสด, ผลไม้, อาหารสด, เครื่องจักสาน เป็นต้น
- ยารักษาโรค เช่น ยาแก้ปวด, ยาลดไข้, ยาแก้ท้องเสีย เป็นต้น
เงินดิจิทัล 10,000 ซื้ออะไรไม่ได้บ้าง
- สลากกินแบ่งรัฐบาล
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม
- บัตรกำนัล บัตรเงินสด
- ทองคำ
- เพชร พลอย อัญมณี
- น้ำมันเชื้อเพลิง
- ก๊าซธรรมชาติ
- เครื่องใช้ไฟฟ้า
- อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- เครื่องมือสื่อสาร
อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลข่าวสารโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านสายด่วน Digital Wallet 1111 (24 ชั่วโมง) รัฐบาล โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เตรียมเจ้าหน้าที่รองรับการทำงานของระบบไว้กว่า 500 คน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก แก้ไขปัญหา ตอบข้อสงสัย เรื่องการลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตให้กับประชาชน.
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น