ดีเอสไอบุกเรือนจำ แจ้งผิด 18 บอสวันนี้ แชร์ลูกโซ่-ขายตรง
โฆษกดีเอสไอเผยหัวหน้าทีมสอบสวนดีเอสไอ 3 กองคดี พร้อมเข้าแจ้งข้อหาเพิ่มเติม “บอสพอล” ดิ ไอคอน กรุ๊ป กับพวกรวม 18 คน ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯและทัณฑสถานหญิงกลาง ในความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.บ.ขายตรงฯ โดยปฏิบัติตามกฎระเบียบของเรือนจำฯ ในการจัดรอบแจ้งข้อกล่าวหาแต่ละคน ส่วนผู้ต้องหาจะให้รับสารภาพหรือปฏิเสธเป็นสิทธิของผู้ต้องหา
ความคืบหน้าการดำเนินคดีกับบอสพอล- วรัตน์พล วรัทย์วรกุล เจ้าของบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวกรวม 18 คน เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 พ.ย. พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า วันที่ 11 พ.ย. เวลา 10.00 น. คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณี การดำเนินคดีอาญากับบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก จะเดินทางไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหา 18 ราย ได้แก่ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 (แชร์ลูกโซ่) มาตรา 4, 5 และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 19, 20
พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า สำหรับหัวหน้าทีมคณะพนักงานสอบสวน มี 3 ผู้อำนวยการกองคดีของดีเอสไอ ประกอบด้วย ตน, พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของแต่ละกองคดี โดยตนและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบรับผิดชอบเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาบรรดาบอสหญิง 7 ราย ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ขณะที่ พ.ต.ท.อนุรักษ์ และ ร.ต.อ.สุรวุฒิรับหน้าที่เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาแก่บรรดาบอสชายทั้ง 11 ราย ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มหานคร โดยในการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล เป็นความ รับผิดชอบของ พ.ต.ท.อนุรักษ์
โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ดีเอสไอต้องปฏิบัติตามแนวทางของเรือนจำในการเตรียมสถานที่ จัดรอบเข้าพบผู้ต้องขังแต่ละราย โดยดีเอสไอจะแจ้งข้อเท็จจริงในคดี แจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 2 กฎหมาย ระบุพฤติการณ์แห่งคดีเพื่อให้ผู้ต้องหาทราบถึงสาเหตุที่พนักงานสอบสวนมองว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ และเมื่อผู้ต้องหารับฟังข้อเท็จจริงจากพนักงานสอบสวนแล้วจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหา
พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า ในส่วนของการตรวจสอบเรื่องธุรกรรมทางการเงิน หากเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป.ส่งรายละเอียดดังกล่าวมายังดีเอสไอ ทางดีเอสไอต้องพิจารณาก่อนว่ามีประเด็นและพยานหลักฐานใดบ้าง จากนั้นทางอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะพิจารณาว่า เรื่องนี้เป็นคดีมูลฐาน คดีพิเศษที่ 119/2567 กรณีแชร์ลูกโซ่ ดิ ไอคอน หรือคดีพิเศษที่ 115/2567 กรณีฟอกเงินทางอาญา เพื่อให้มีข้อสั่งการไปยังกองคดีที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ทั้งนี้ การตรวจสอบเส้นทางการเงิน หรือการสอบสวนเรื่องแชร์ลูกโซ่ คณะพนักงานสอบสวนของดีเอสไอมีการประชุมร่วมกัน เพื่อสรุปความคืบในการดำเนินการเป็นระยะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับยอดผู้เสียหายถูกหลอกลวงลงทุนของบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป ที่มาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนของ บช.ก. จนถึง วันที่ 10 พ.ย. มีผู้เสียหายที่สอบปากคำแล้ว 3,671 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,235 ล้านบาท ส่วนศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) สรุปข้อมูลการรับแจ้งความร้องทุกข์ในคดีบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จากศูนย์รับแจ้งความร้องทุกข์ตำรวจภูธรจังหวัดและ บช.น. วันที่ 10 พ.ย. มีผู้เสียหายที่สอบปากคำแล้ว 6,789 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,978 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 10,460 ราย มูลค่าความเสียหาย 3,213 ล้านบาท
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath
ความคิดเห็น