กกต. ออกระเบียบ กำหนดบัตรดี บัตรเสีย ตัวอย่างบัตรลงคะแนนเลือก สว.
ประธาน กกต. ลงนามระเบียบ เลือกสมาชิกวุฒิสภา ฉบับที่ 2 กำหนดลักษณะบัตรดี บัตรเสีย และตัวอย่างบัตรลงคะแนน แจ้งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศแล้ว เตรียมประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
วันที่ 30 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (29 พ.ค. 67) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ลงนามในระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 โดยเนื้อหาสาระหลักเป็นการยกเลิกและการแก้ไขระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบัตรลงคะแนน ลักษณะบัตรดี บัตรเสีย การวินิจฉัยบัตรลงคะแนน และภาพตัวอย่างบัตรลงคะแนน เช่น
บัตรลงคะแนนที่ให้ถือเป็นบัตรเสียทั้งฉบับและไม่ให้นับเป็นคะแนน ได้แก่
1. บัตรปลอม
2. บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรลงคะแนนนอกจากหมายเลขผู้สมัคร เว้นแต่เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก
3. บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
4. บัตรที่มิอาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด
5. บัตรที่ลงคะแนนให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับเลือก
6. บัตรที่เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเกินจำนวนที่กำหนด
7. บัตรที่ลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนน
8. บัตรที่มิใช่บัตร ซึ่งกรรมการประจำสถานที่เลือกมอบให้
นอกจากนี้บัตรลงคะแนนที่จะนับเป็นคะแนน จะต้องเขียนด้วยหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเป็นเลขอารบิกเท่านั้น และยังกำหนดลักษณะของบัตร “ดีบางส่วน” ซึ่งสามารถนับเป็นคะแนนได้ คือบัตรลงคะแนนที่ไม่ได้เขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครในช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร โดยให้นับคะแนนในช่องเขียนหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่สามารถนับคะแนนได้
โดยทางสำนักงาน กกต. ได้แจ้งระเบียบดังกล่าวไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมแล้ว เนื่องจากระเบียบอยู่ในระหว่างการลงประกาศราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับ
ความคิดเห็น