ข่าว

- ตอบ
โพสต์ต้นฉบับ
ชื่อ: 15 รูปแบบการฉ้อโกงบนตลาดออนไลน์

รูปแบบการฉ้อโกงสำหรับปัญหาการซื้อขายทางออนไลน์ในรอบปี 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดสถิติรูปแบบการฉ้อโกงสำหรับปัญหาการซื้อขายทางออนไลน์ในรอบปี 2564 พบว่า แบ่งประเภทได้ 15 เรื่อง โดยช่องทางการซื้อขายที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ “เฟซบุ๊ก” ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 82.1% ตามมาด้วย เว็บไซต์ อินสตาแกรม แพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลส ไลน์ ทวิตเตอร์ และยูทูป ตามลำดับ ซึ่งความเสียหายที่พบบ่อยคือ สินค้าไม่ตรงปก ไม่ได้รับสินค้า สินค้าชำรุด ฯลฯ

สำหรับรูปแบบการฉ้อโกงในการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ ประกอบด้วย

  1. การซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระ มักเกิดเหตุกับสินค้าราคาสูง เช่น ทองคำ โทรศัพท์มือถือ
  2. การกดดันให้โอนเงิน มิจฉาชีพมักแฝงตัวขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลส ซึ่งเป็นที่นิยม และกดดันให้ลูกค้าโอนเงินทันที โดยอ้างว่าสินค้ามีน้อยและมีลูกค้ารายอื่นกำลังสนใจ
  3. ใช้สถานการณ์ Hot Issue เป็นช่องการฉ้อโกง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการหลอกขายแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย เครื่องวัดค่าออกซิเจน ชุดตรวจ ATK เป็นต้น และล่าสุดขยายมาถึงสินค้ายอดนิยมยุค New normal ได้แก่ ต้นไม้ด่าง
  4. การฉ้อโกงผ่าน Social Media สินค้าที่พบปัญหานี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์เนม และมีมูลค่าความเสียหายสูง
  5. การแลกเปลี่ยนสิ่งของผ่านแอปพลิเคชันแลกเปลี่ยนสิ่งของ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับตามที่ตกลงกันไว้ และถูกบล็อกช่องทางการติดต่อหลังจบการแลกเปลี่ยน
  6. การซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยสั่งซื้อสินค้านำเข้าผ่านแพลตฟอร์มด้านนี้โดยตรง แต่ได้รับสินค้าชำรุด
  7. การซื้อสินค้าแบบ Pre-order โอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า
  8. การถูกฉ้อโกงจากวิธีเก็บเงินปลายทาง ได้รับสินค้าปลอม
  9. การแอบอ้างเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า พบบ่อยคือสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อโอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า
  10. การใช้บัญชีที่สวมรอย หลอกลวงให้โอนเงิน
  11. พนักงานขนส่งสินค้า ติดต่อให้ชำระเงินค่าสินค้า อ้างว่ามีสินค้าที่ถูกจัดส่งมาจากต่างประเทศ ต้องชำระค่าธรรมเนียมก่อนรับสินค้า
  12. การประมูลสินค้าผ่านเว็บไซต์ เงื่อนไขคือผู้ประมูลจะต้องเติมเงินก่อนการประมูล แต่หลังจากเติมเงิน ทางแอดมินเพจ แจ้งว่าไม่สามารถประมูลได้โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ และผู้เสียหายไม่ได้รับเงินที่โอนเติมเงินคืน
  13. การแจกสินค้าฟรี แต่เรียกเก็บเงินค่าจัดส่ง โอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า
  14. การซื้อสินค้าประเภทผลไม้ตามฤดูกาล และไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงกันไว้
  15. การหลอกลวงจากการซื้อสินค้าประเภทเครื่องขุดเหรียญดิจิทัล ได้รับของไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้

เนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ภาพรวมการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 OCC) ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา พบปัญหาร้องเรียนมากสุด คือ ปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ 37,584 เรื่อง (เฉลี่ย 3,132 เรื่อง/เดือน) และตามมาด้วย เว็บไซต์ผิดกฎหมาย 11,476 เรื่อง ปัญหาอื่น ๆ/สอบถามข้อสงสัย 3,200 เรื่อง ภัยคุกคามไซเบอร์ 1,667 เรื่อง และข้อสงสัยด้านกฎหมายไอซีที 421 เรื่อง

ทั้งนี้ เกือบ 80% ของข้อร้องเรียนปัญหาซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ คือ ไม่ได้รับสินค้า และสินค้าไม่ตรงตามข้อตกลง-ไม่ตรงตามโฆษณา โดยประเภทสินค้าที่มีการร้องเรียรนมากสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไอทีและสินค้าแฟชั่น ครองสัดส่วนรวมกันเกือบ 50%

“กรณีที่ประชาชนผู้บริโภคพบปัญหาจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ สามารถร้องเรียน ขอคำปรึกษา หรือแจ้งเบาะแสเข้ามาได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC เพื่อเราจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด โดยสามารถติดต่อผ่านช่องทาง สายด่วนโทร. 1212 อีเมล์ [email protected] เว็บไซต์ 1212OCC.com เพจเฟซบุ๊ก : ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC และสำนักงานสถิติจังหวัดทั่วประเทศ”

ฉ้อโกง ออนไลน์ เนวินธุ์

จากข้อมูลของ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ยังระบุถึงความเสี่ยงฉ้อโกงในกลุ่มผู้สูงอายุ พบรายงานสถิติคดีอาญาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2558 ผู้สูงอายุถูกฉ้อโกงทรัพย์สินสูงขึ้น จากปี 2548 ที่มีผู้เสียหาย จำนวน 73 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 703 รายในปี 2558 ทั้งการฉ้อโกงในรูปแบบคอลเซ็นเตอร์ หลอกขายของ หลอกลงทุน

สอดคล้องกับ รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2561 พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุมักตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ เช่น แอบอ้างว่าเป็นการติดต่อจากบุตรและหลอกให้โอนเงิน ซึ่งผู้สูงอายุยังไม่รู้เท่าทันกลลวง และมักถูกละเมิดสิทธิต่าง ๆ ผ่านสื่อออนไลน์อีกด้วย