บันเทิง

- ตอบ
โพสต์ต้นฉบับ
ชื่อ: อาชญากรจีนทะลักไทย “ปล้น-ลักพาตัว” ช่องโหว่เอื้อโอกาส ปราบไม่หมด N
อาชญากรจีนทะลักไทย “ปล้น-ลักพาตัว” ช่องโหว่เอื้อโอกาส ปราบไม่หมด

อาชญากรจีนทะลักไทย “ปล้น-ลักพาตัว” คนร่วมชาติ นักอาชญาวิทยา วิเคราะห์ กระบวนการสืบสวนล่าคนร้ายช้ากว่าโจร ชี้นโยบายฟรีวีซ่า ช่องโหว่ฝังตัวเป็นเครือข่าย รอเวลาก่อเหตุร้าย หนักจนตำรวจยากจะปราบ

เหตุการณ์ชาวจีนที่เข้ามาในไทย ก่อเหตุต่อเพื่อนร่วมชาติทั้ง “ปล้น-ลักพาตัว” อย่างกรณีล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งว่า มีผู้เสียหายชาวจีนได้ถูกชายชาวจีน 3 คน ปล้นทรัพย์เป็นเงิน 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่นำมาแลกเป็นเงินดิจิทัลแบบเหรียญคริปโท ก่อนถูกกลุ่มผู้ก่อเหตุนำกระเป๋าเงินดังกล่าวหลบหนีขึ้นรถตู้แอลพาร์ดสีขาว ภายหลังทราบว่าเป็นคนจีนด้วยกัน เหตุการณ์นี้ทำให้พิจารณาถึงการก่อเหตุของคนต่างชาติด้วยกัน และการอาศัยพื้นที่ประเทศไทยเป็นพื้นที่ในการก่ออาชญากรรม

อาจารย์ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล นักอาชญาวิทยา อดีตนักวิชาการด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์การก่อเหตุของอาชญากรปัจจุบัน ในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ใช่เกิดเฉพาะในไทย เป็นการที่อาชญากรอาศัยประโยชน์จากความแตกต่างในระบบของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตั้งแต่การเรียนรู้ในเรื่องของปรัชญา กระบวนการยุติธรรมซึ่งมี 2 กระแสหลัก

อันแรก เป็นเรื่องของความเคร่งครัดในเรื่องของการควบคุมอาชญากรรมที่เรียกว่า Crime control ที่เราให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินการตั้งแต่ต้น เจ้าหน้าที่สามารถจัดการกับผู้ต้องสงสัยอย่างเฉียบขาดจริงจัง เช่น การบอกให้หยุดหรือห้ามต่อสู้ วางอาวุธ หรือสั่งการใด ๆ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ แล้วหากไม่ทำตามสามารถใช้กำลัง ใช้อาวุธได้ทันที

เช่นที่เราพบเห็นในภาพยนตร์ หรือข่าวต่าง ๆ ในต่างประเทศอยู่เสมอ อีกกระแสหนึ่งเป็นกระแสที่ให้การคุ้มครองผู้ต้องสงสัยหรือดำเนินการใด ๆ บนหลักการเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถใช้ความรุนแรงได้ทันที ต้องมีการแจ้ง ตักเตือน แจ้งสิทธิ หรือจับกุมที่ไม่ใช้ความรุนแรง รวมทั้งการควบคุมตัวบนหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หลักการที่เรียกว่า Due Process ความแตกต่างนี้ทำให้การปฏิบัติงานการบังคับใช้กฎหมาย หรือการดำเนินคดีแตกต่างกันออกไป กรอบการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ อาชญากรหรือผู้ที่จะก่อเหตุเรียนรู้และอาศัยประโยชน์

เส้นทางอาชญากรเดินทางหลบหนีง่ายมากขึ้น

อาจารย์ฐนันดร์ศักดิ์วิเคราะห์สาเหตุสำคัญที่ทำให้อาชญากรชาวจีนเข้ามาก่อเหตุในไทยมากขึ้นคือ ความเจริญก้าวหน้าในพื้นที่ ซึ่งส่งผลใน 2 ส่วน คือ มิติที่อาชญากรมองเห็นว่าสามารถใช้ประโยชน์ในเงื่อนไขได้ อาจมาก่อเหตุในประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเดินทาง การคมนาคม การหายานพาหนะง่าย การเดินทางซึ่งจะเป็นประโยชน์เมื่อก่อเหตุแล้วสามารถหลบหนีได้ง่าย ที่พักอาศัย ความสะดวกสบาย และอย่าลืมว่า การที่สังคมใดมีการเติบโตเป็นสังคมเมืองนั้น คนในสังคมไม่ค่อยสนใจกัน ไม่ยุ่งเกี่ยวกันมาก การสอดส่องคนแปลกหน้าหรือคนต่างถิ่นน้อยลง

การสามารถมีเครือข่ายในพื้นที่จากพรรคพวกที่เข้ามาอยู่ก่อน หรือการสามารถติดสินบนในการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้ง่าย รวมทั้งการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้ง่าย สิ่งนี้เป็นเงื่อนไขที่เอื้อต่อการก่ออาชญากรรมในอีกมุมหนึ่งได้

ทางตรงกันข้าม เงื่อนไขความเจริญก้าวหน้าเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่อาชญากรนำมาใช้ในการพิจารณาก่อเหตุด้วย คือ พื้นที่ดังกล่าวนั้นมีความก้าวหน้าในวิทยาการ วิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการสืบสวนสอบสวนหรือไม่ เช่น การมีความก้าวหน้าในการเก็บข้อมูลทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ การตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ การตรวจหา DNA การตรวจสอบวัตถุพยานด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย การมีกล้องวงจรปิดหรือ CCTV
หากไม่มีก็ทำให้การดำเนินการสืบสวน สอบสวน และการติดตามจับกุมด้อยประสิทธิภาพ สามารถหลบหนีไปที่อื่นได้ง่าย ตัวผู้ก่อเหตุหรือผู้บงการองค์กรอาชญากรรมอาศัยช่องทางนี้ หรืออาศัยประโยชน์จากช่องทางตรงนี้เช่นกัน

พวกเขาได้เรียนรู้และอาศัยในเรื่องของศักยภาพของกระบวนการยุติธรรมด้วย ตั้งแต่เรื่องบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม มีความรู้ ศักยภาพ ประสบการณ์ ความเก่ง ความเอาใจใส่ ความเคร่งครัด จริงจังในการปฏิบัติงาน หรือศักยภาพในเรื่องของวัสดุอุปกรณ์ รถ ลา ม้า ช้าง เครื่องไม้เครื่องมือที่จะสามารถใช้ในการติดตามการก่อเหตุหรือเพื่อการจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี ซึ่งอาจรวมไปถึงระบบการบริหารจัดการ หรือการมีองค์กรต่าง ๆ ที่มีบทบาทอย่างเข้มข้นในการต่อต้านปราบปรามเกี่ยวกับอาชญากร เช่น เขาพิจารณาว่าบางประเทศไม่มีองค์กรในเรื่องดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องการต่อต้านการฟอกเงิน อย่างประเทศไทยที่เรามีสำนักงาน ป.ป.ง. เป็นต้น ก็ง่ายหรือสะดวกต่อการนำเงินผิดกฎหมายมาฟอก

ที่สำคัญหากเขามีเครือข่าย ซึ่งอาจเป็นเครือข่ายในกลุ่มอาชญากรด้วยกัน ระหว่างองค์กรอาชญากร หรือผู้มีอิทธิพล บรรดามาเฟียในพื้นที่ ในการก่อเหตุก็จะยิ่งทำให้พื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ที่สะดวกในการก่อเหตุอาชญากรรม รวมทั้งการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ

มีคนตั้งคำถามว่า แม้เป็นการก่อเหตุระหว่างคนต่างชาติด้วยกัน เช่น คนจีนมีแอบมาลักพาตัวคนจีนด้วยกันและเรียกค่าไถ่ข้ามประเทศคนจีนด้วยกัน หรือมีการลวงคนจีนมาสังหารคนจีนด้วยกันในประเทศไทย เหตุใดทำไมอาชญากรหรือคนที่ก่อเหตุเหล่านั้นไม่ไปก่อเหตุในประเทศจีนเลยไม่ง่ายกว่าเหรอ หรือไม่?

ใครที่เคยเดินทางไปจีนจะรู้ว่า ในจีนนั้น มณฑลหรือเมืองต่าง ๆ มีจำนวนคนจีนอยู่มาก มีการสัญจรที่พลุกพล่าน การจะก่อเหตุอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรอดหูรอดตาจากคนรอบข้าง ที่สำคัญจีนมีนโยบายการต่อต้านและตอบโต้กับการก่ออาชญากรรมที่เข้มงวดของตน และมีการใช้เกณฑ์เน้นย้ำในเรื่องของการจับกุมดำเนินคดีของอาชญากรในคดีต่าง ๆ มากขึ้น

รวมไปถึงระบบกฎหมายที่มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดจริงจัง ระบบการลงโทษที่เด็ดขาดและรุนแรง รวมทั้งมีการสืบสวนเรื่องราวต่อเนื่อง ดังนั้น การเลือกหรือวางแผนที่จะก่อเหตุนอกประเทศน่าจะเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าและสามารถที่จะหลบหนีออกจากพื้นที่ได้ง่าย จึงเลือกเอาพื้นที่อย่างประเทศไทยที่มีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงมือ ยังไม่รวมถึงนิสัยใจคอคนในพื้นที่ ความเป็นมิตร วัฒนธรรมและเงื่อนไขอื่น ๆ อีก

 

ทางออกแก้ปัญหาอาชญากรจีนในไทย

“อาจารย์ฐนันดร์ศักดิ์” วิเคราะห์ถึงการแก้ไขปัญหา ป้องกันในเบื้องต้น มีข้อมูลที่น่าสนใจในการดำเนินการจากบางประเทศ ดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก ที่พบการออกนโยบายของรัฐไม่ควรรีบร้อน จนขาดความละเอียดรอบคอบในเรื่องผลกระทบ เช่น การให้ฟรีวีซ่าหรือวีซ่า On arrival นั้น แม้ว่าสามารถเรียนรู้จากต่างประเทศว่าสามารถเป็นกลไกที่จะช่วยนำเงินตราเข้าประเทศ

หลายประเทศพิจารณาว่า เหมือนเดิมเราจะมีรั้วบ้าน ผู้เข้ามามีการคัดกรอง ตรวจสอบ จนแน่ใจแล้วค่อยให้เข้ามา แต่วันดีคืนดีเราไปทำลายรั้วกั้นให้ใครสามารถเดินเข้าออกได้ง่าย แล้วหากเกิดเหตุค่อยมาแก้ไขในภายหลัง ไม่มีอะไรคอยตรวจสอบ และกีดกั้นเราไม่รู้ว่าผู้ที่เข้ามานั้นเคยมีประวัติการก่อเหตุ

การออกฟรีวีซ่า จึงมีการควบคุมและตรวจสอบกำกับ รวมทั้งมีการประเมินผลกระทบและออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการเข้ามาก่อเหตุ เช่น มีการกำหนดเฉพาะให้บางประเทศ การต้องมีเอกสารยืนยันการไม่มีประวัติอาชญากรรมจากหน่วยงาน หรือการกำหนดให้โรงแรม รถรับจ้างสาธารณะต้องแจ้งการรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบในแต่ละวันโดยเคร่งครัด

โดยไม่ได้เป็นภาระหรือกระทบต่อนักท่องเที่ยวแต่เป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวต้องมีหน้าที่รายงานให้หน่วยงานรัฐทราบ ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งการสร้างความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวและเฝ้าระวังหากมีการเดินทางเข้ามาก่อเหตุ ดังนั้นการดำเนินนโยบายในเรื่องที่จะสนับสนุนให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่ก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่จะต้องระมัดระวังในเรื่องของการสร้างสมดุลระหว่างการก่อเหตุกับจำนวนเม็ดเงินที่เข้ามาซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายในระยะยาวได้เช่นกัน

ประการที่สอง การสร้างความร่วมมือกับประเทศต้นทางที่มีข้อมูลจากการประมวลผลข้อมูลว่า มีการเดินทางเข้ามาก่ออาชญากรรมในประเทศจำนวนมากเพื่อประสานและตรวจสอบ รวมทั้งการสื่อสารการประสานงานให้นักท่องเที่ยวทราบ เป็นการระวังในการเดินทางการตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งเป็นการเตือนผู้ที่จะก่อเหตุว่า ได้มีการเฝ้าระวังและตรวจสอบ

 

ประการที่สาม การให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการดูแลสอดส่องกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาในพื้นที่ โดยการแจ้งการปรากฏตัว การเข้ามาใช้บริการให้หน่วยงานท้องถิ่นทราบและเก็บรวบรวมข้อมูล ไม่จำเป็นต้องเป็นรายชื่อหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการรบกวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่มีการส่งภาพจากกล้องวงจรปิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ในบางประเทศ.

 

 

 

 

ขอบคุณแหล่งที่มา :  thairath